ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการบริหาร กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1 เชียงใหม่

Main Article Content

นพดล พรมรักษา, พย.บ.
สมโภช รติโอฬาร, ปร.ด. (ประชากรศึกษา)
นิตยา เพ็ญศิรินภา, ส.ด. (สุขศึกษา)

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2) ศึกษาปัจจัยด้านกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ 3) ศึกษาการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และ 4) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปัจจัยด้านกองทุนหลักประกันสุขภาพกับการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1 เชียงใหม่ประชากรคือ คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ในปี 2557 ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวม 813 กองทุน สุ่มตัวอย่างอย่างง่ายได้ 261 กองทุน ตัวแทนตอบ แบบสอบถาม คือ กรรมการและเลขานุการ กองทุนละ 1 คน เครื่องมือการวิจัย คือ แบบสอบถาม ค่าความเที่ยงเท่ากับ0.78 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติไคสแควร์และสหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน


ผลการวิจัย พบว่า 1) ปัจจัยด้านองค์กร พบว่าประเภทองค์กรส่วนมากเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง จำนวนประชากรที่รับผิดชอบส่วนมาก 5,001-10,000 คน จำนวนหมู่บ้านที่รับผิดชอบ ส่วนมาก 1-10 หมู่บ้านข้าราชการและลูกจ้างที่มีคุณวุฒิด้านการแพทย์ พยาบาลสาธารณสุข ส่วนมากมีคุณวุฒิด้านสาธารณสุข จำนวนงบประมาณที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมทบเข้ากองทุนส่วนมาก 11,141-100,000 บาท ส่วนใหญ่ไม่มีโครงสร้างกองหรือส่วนสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 2) ปัจจัยด้านกองทุน พบว่า จำนวนงบประมาณทั้งหมดในกองทุนส่วนมาก 47,004-1,000,000 บาท ระยะเวลาที่เข้าร่วมดำเนินงานกองทุน ส่วนมาก 5 และ 6 ปี ผู้ดำรงตำแหน่งเลขานุการกองทุนหลักประกันสุขภาพส่วนมากเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ส่วนมากมีกลยุทธ์การบริหารกองทุนโดยใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ จำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีคุณวุฒิทางด้านแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุขที่เป็นคณะกรรมการ ส่วนมากมีจำนวน 2 คน 3) การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพภาพรวมอยู่ในระดับมาก 4) ปัจจัยด้านองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับการบริหารจัดการหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ จำนวนประชากร จำนวนหมู่บ้าน จำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีคุณวุฒิด้านแพทย์พยาบาล และสาธารณสุขที่เป็นลูกจ้าง การสมทบงบประมาณเข้ากองทุน ส่วนปัจจัยด้านกองทุนที่มีความสัมพันธ์กับการบริหารจัดการหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ จำนวนงบประมาณทั้งหมด จำนวนคณะกรรมการกองทุนที่มีคุณวุฒิด้านการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข

Article Details

บท
บทความวิจัย