รูปแบบการรักษาในทางปฏิบัติจริงและผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วยนอกที่มีอาการทางระบบหายใจหลงเหลือจากการติดเชื้อโควิด 19 ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร : การศึกษาย้อนหลัง

ผู้แต่ง

  • โศรยา ธรรมรักษ์ กลุ่มอำนวยการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

คำสำคัญ:

รูปแบบการรักษา, ผลลัพธ์ทางคลินิก, ลองโควิด, อาการหลังการติดเชื้อโควิด

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบและผลลัพธ์ทางคลินิกในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจหลงเหลือจากการติดเชื้อโควิด 19  และพัฒนาข้อเสนอเพื่อปรับปรุงการบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วิธีการวิจัย การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลัง  (retrospective study) ในผู้ป่วยที่มีอาการหลงเหลือในระบบทางเดินหายใจจากการติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป  ที่มาพบแพทย์ที่คลินิกระบบทางเดินหายใจ ด้วยอาการหลัก คือ อาการเหนื่อยง่าย และ/หรือ หายใจลำบาก ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ.2565 - มีนาคม พ.ศ.2566 โดยคัดเลือกผู้ป่วยที่มีรายงานผลการประเมินภาวะหลอดลมอุดกั้น  หรือมีผลลัพธ์การรักษาครบใน 4  ด้าน ได้แก่ ความรุนแรงของอาการเหนื่อยง่าย  อาการหอบเหนื่อย คุณภาพชีวิตและอาการร่วมอื่น ๆ การวิเคราะห์สถิติด้วย Paired t-test สำหรับการกระจายตัวของข้อมูลปกติ และ Wilcoxon signed rank test สำหรับการกระจายตัวของข้อมูลไม่ปกติ ผลการศึกษา ในผู้ป่วย 40 รายที่มีข้อมูลครบถ้วน มีอายุเฉลี่ย 49±17 ปี  ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 25 ราย (ร้อยละ 62.50)  ผู้ป่วยร้อยละ 78.58%  มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ ผู้ป่วยร้อยละ 82.50 มีโรคประจำตัว ระยะเวลาที่ติดเชื้อจนถึงวันแรกที่มาพบแพทย์ 8±4 เดือน ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการเหนื่อยง่ายและ/หรือหายใจลำบาก หลังการติดเชื้อ 3±4 เดือน ระยะเวลาการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอกระบบทางเดินหายใจ 57±25 วัน  ผู้ป่วยร้อยละ 75.00 มีความรุนแรงของภาวะหลอดลมอุดกั้น ในระดับเล็กน้อย กลุ่มยาพ่นถูกจ่ายให้กับผู้ป่วยมากที่สุด 36 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 33.34 ของยาที่ได้รับทั้งหมด  ผลลัพธ์การรักษาพบว่า ผู้ป่วยมีความรุนแรงของอาการเหนื่อยล้าและความรุนแรงของอาการหอบเหนื่อยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (P<0.05) แต่คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการดังกล่าวแล้วในครั้งสุดท้ายที่มาพบแพทย์  การทำงานที่ต้องใช้แรง อากาศร้อนหรือเย็นจัด และฝุ่นควัน เป็นปัจจัยกระตุ้นสามอันดับแรกที่ทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลง สรุป การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหลงเหลือในระบบทางเดินหายใจ มีประสิทธิผลในการช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้า อาการเหนื่อยหอบและอาการร่วมอื่นๆ ของผู้ป่วย นอกจากนี้การให้การดูแลแบบองค์รวม ด้วยการนำหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิตมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้น่าจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

References

กรมการแพทย์. การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือ ภาวะ Long COVID สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 11 เม.ย.2566]. เข้าถึงได้จาก: https://dmsic.moph.go.th/index/detail/8879

Gautret P, Million M, Jarrot PA, Camoin-Jau L, Colson P, Fenollar F, et al. Natural history of COVID-19 and therapeutic options. Expert Rev Clin Immunol 2020;16(12):1159–84.

Lewis KL, Helgeson SA, Tatari MM, Mallea JM, Baig HZ, Patel NM. COVID-19 and the effects on pulmonary function following infection: a retrospective analysis. EClinicalMedicine 2021;39:101079.

Smet J, Stylemans D, Hanon S, Ilsen B, Verbanck S, Vanderhelst E. Clinical status and lung function 10 weeks after severe SARS-CoV-2 infection. Respir Med 2021;176:106276.

Wang Y, Bao S, Chen Y. The illness experience of long COVID patients: a qualitative study based on the online Q&A community Zhihu. Int J Environ Res Public Health 2022;19(16):9827.

Ferreira JC, Moreira TCL, de Araújo AL, Imamura M, Damiano RF, Garcia ML, et al. Clinical, sociodemographic and environmental factors impact post-COVID-19 syndrome. J Glob Health 2022;12:05029.

Tsampasian V, Elghazaly H, Chattopadhyay R, Debski M, Naing TKP, Garg P, et al. Risk factors associated with post−COVID-19 condition: a systematic review and meta-analysis. JAMA Intern Med 2023;183(6):566-80.

Smirmaul BPC, Chamon RF, de Moraes FM, Rozin G, Moreira ASB, de Almeida R, et al. Lifestyle medicine during (and after) the COVID-19 pandemic. Am J Lifestyle Med 2020;15(1):60-7.

Dhamaraks S, Kwankhao P, Musigavong N, Klaipim C, Thongthip R, Khamsa-ard P. Outcomes of Care Model for Patients with Residual Symptoms of COVID-19 Infection with Lifestyle Medicine and Integrative Medicine. The Journal of Prapokklao Hospital Clinical Medical Education Center. 2023 Apr 28;40(2):191–200.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-08-31