จริยธรรมของวารสาร

 

จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ

วารสารการพยาบาลและการศึกษา ดำเนินการจัดพิมพ์โดย สถาบันพระบรมราชชนก มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการด้านการพยาบาล การศึกษาพยาบาล การบริหารการพยาบาลและการสาธารณสุข  ของบุคลากรทางการพยาบาลและการสาธารณสุข ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์ จึงได้กำหนดจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยและบทความวิชาการ ทั้งของผู้นิพนธ์ กองบรรณาธิการและผู้ประเมินบทความ ให้มีบทบาทหน้าที่ดังนี้

 บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์

  1. ผู้เขียนต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น โดยรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นเป็นผลงานที่ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในแหล่งใด ๆ มาก่อน
  2. ผู้เขียนต้องรายงานผลที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย โดยไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
  3. ผู้เขียนต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่น หากมีการนำข้อความใด ๆ มาใช้ในผลงานของตนเอง รวมทั้งต้องทำรายละเอียดเอกสารอ้างอิงไว้ท้ายบทความ
  4. ผู้เขียนต้องเขียนบทความวิจัยหรือบทความวิชาการให้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารกำหนด
  5. ผู้เขียนที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคนต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยจริง
  6. ผู้เขียนต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยและระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)

 บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ

  1. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด
  2. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนและผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ในทุกกรณี
  3. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องคัดเลือกบทความเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว
  4. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน ผู้ประเมิน และกองบรรณาธิการ

 บทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

  1. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  2. หลังจากได้รับบทความจากกองบรรณาธิการ ผู้ประเมินต้องตระหนักว่า ตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ หรือรู้จักผู้เขียนเป็นการส่วนตัว หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ
  3. ผู้ประเมินบทความ ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญด้านเนื้อหาในบทความ คุณภาพของการวิเคราะห์ข้อมูล และความเข้มข้นของผลงาน
  4. หากมีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบด้วย