การพัฒนาแผนการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยใช้กระบวนการ AIC สำหรับการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนด้านสาธารณสุข ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

ผู้แต่ง

  • คนึงเดช เชื่อมวราศาสตร์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาแผนการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยใช้กระบวนการ AIC สำหรับการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนด้านสาธารณสุข ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยมีวิธีการดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ 1) การพัฒนาแผนการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยใช้กระบวนการ AIC : ขั้นเตรียมการประชุมเชิงปฏิบัติการ 2) การทดลองใช้แผนการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยใช้กระบวนการ AIC: ขั้นการจัดประชุมปฏิบัติการ และ 3) การประเมินผลการใช้แผนการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยใช้กระบวนการ AIC: ขั้นประเมินผลการประชุมปฏิบัติการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 45 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แผนการประชุมปฏิบัติการโดยใช้กระบวนการ AIC ซึ่งประกอบด้วยชุดฝึกอบรม 7 ชุด และแบบสังเกต  การวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์เนื้อหา

         ผลการวิจัยพบว่า การพัฒนาแผนการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยใช้กระบวนการ AIC สำหรับการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนด้านสาธารณสุข ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่หนึ่ง คือ การสร้างความรู้และจิตสำนึกร่วมกัน (Appreciation) ประกอบด้วยชุดฝึกอบรม 3 ชุด คือ 1) สร้างความเข้าใจและสร้างข้อตกลงร่วมกัน 2) ทบทวนสภาพความเป็นจริง และ3) การคิดถึงภาพที่พึงปรารถนา ขั้นตอนที่สองคือ การสร้างแนวทางพัฒนาชุมชนร่วมกัน (Influence)  ประกอบด้วยชุดฝึกอบรม 2 ชุด คือ 1) ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขของชุมชน และ2) การกำหนดแนวทางในการจัดการด้านสาธารณสุขของชุมชน ส่วนขั้นตอนสุดท้าย คือ การกำหนดแนวทางการปฏิบัติและการควบคุมกำกับ (Control) ประกอบด้วยชุดฝึกอบรม 2 ชุด คือ 1) การกำหนดแผนปฏิบัติการ และ2) การสรุปบทเรียนและสร้างพันธะสัญญา  จะเห็นได้ว่าแผนการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยใช้กระบวนการ AIC ดังกล่าวนี้สามารถนำไปใช้ได้จริงในการสนับสนุนให้ อสม. มีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาชุมชนด้านสาธารณสุข

References

คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงาน. (2553). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550-2554). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2553, จาก https://www.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=139.

จิตติมา อินทะทำมา. (2543). การพัฒนาการเรียนรู้ของคณะกรรมการชุมชน ในการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยใช้กระบวนการ AIC : กรณีศึกษาชุมชนในจังหวัดนครราชสีมา. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา, มหาวิทยาลัยมหิดล.

นรินทร์ สังข์รักษา. (2549). คุณลักษณะที่พึงประสงค์และการรวมกลุ่มนักสื่อสารสุขภาพ. กรุงเทพมหานคร : สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล.

ประเวศ วะสี. (2535). บนเส้นทางชีวิต ตอน 58 : เอ ไอ ซี (AIC). วารสารหมอชาวบ้าน, 14 (161) : 60-64.

พนัส พฤกษ์สุนันท์ อุบล จันทร์เพชร และจินตนา ชุณหมุกดา. (2545). การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนน่าอยู่ : กรณีศึกษาจังหวัดราชบุรี. รายงานการวิจัย ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ เขต 4 ราชบุรี, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.

สุรีพร พึ่งพุทธคุณ. (2549). การบริหารจัดการทีมงาน. กรุงเทพมหานคร : เอ็กซเปอร์เน็ท.

อรพินท์ สพโชคชัย. (2537). คู่มือการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดในการพัฒนาหมู่บ้าน การพัฒนาหมู่บ้านโดยพลังประชาชน. กรุงเทพมหานคร: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2013-04-30