ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานโดยใช้สื่อประสม ของนักศึกษามหาวิทยาลัยคริสเตียน
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง “ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานโดยใช้สื่อประสมของนักศึกษามหาวิทยาลัยคริสเตียน” มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ เพื่อพัฒนาวิธีการสอนโดยใช้สื่อประสมในรายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานโดยใช้สื่อประสม และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักศึกษาที่เรียนรายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานโดยใช้สื่อประสม
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยคริสเตียนจังหวัดนครปฐม ที่สอบไม่ผ่านรายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน และลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้ในภาคการศึกษาที่ 3 ปีการศึกษา 2555 จำนวน 49 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แผนการสอนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานจำนวน 10 แผน แบบทดสอบย่อยวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานประกอบด้วยแบบทดสอบย่อยครั้งที่ 1 จำนวน 10 ข้อ (แบบปรนัย) และแบบทดสอบย่อยครั้งที่ 2 จำนวน 10 ข้อ (แบบปรนัย) แบบทดสอบกลางภาคเป็นแบบทดสอบปรนัยจำนวน 35 ข้อ แบบทดสอบอัตนัยจำนวน 2 ข้อ แบบทดสอบปลายภาค เป็นแบบทดสอบปรนัยจำนวน 35 ข้อ แบบทดสอบอัตนัยจำนวน 3 ข้อ สื่อประสม ประกอบด้วยสื่อ 3 ชนิด ได้แก่ ใบกิจกรรมวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน e - learning รายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน วิดีทัศน์บันทึกการสอนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน และแบบวัดความพึงพอใจของนักศึกษาที่เรียนรายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานโดยใช้สื่อประสมจำนวน 10 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติทดสอบ Z (Z-Test for Population Proportion)
ผลการวิจัยพบว่า
1. นักศึกษาที่เรียนรายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานโดยใช้สื่อประสม สามารถสอบผ่านเกณฑ์ได้ มากกว่าร้อยละ 60 ของนักศึกษาทั้งหมด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. คะแนนที่ได้จากแบบวัดความพึงพอใจของนักศึกษากลุ่มตัวอย่าง จำนวน 49 คน มีค่าเฉลี่ยเลขคณิตเป็น 3.99 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 79.8 ของคะแนนเต็มและมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนนเป็น 0.442 คะแนน ซึ่งคะแนนความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
References
จริยา เหนียนเฉลย. (2546). เทคโนโลยีการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : ศูนย์ส่งเสริมกรุงเทพ.
สันติ วิจักรขณาลัญฉ์. (2547). “E-learning รูปแบบการเรียนรู้ยุคปัจจุบัน”. วารสารศึกษาศาสตร์ มข. ปีที่ 27 ฉบับที่ 4 มิถุนายน-สิงหาคม 2547 : 24-25.
สุดใจ เหง้าสีไพร. (2549). สื่อการเรียนการสอน : หลักการและทฤษฎีพื้นฐานสู่การปฏิบัติ. ภาควิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.