ผลของโปรแกรมการจัดการอาการทางลบต่อการทำหน้าที่ของ ผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง
คำสำคัญ:
ผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง, โปรแกรมการจัดการอาการทางลบ, การทำหน้าที่บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: 1) เพื่อเปรียบเทียบการทำหน้าที่ของผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการจัดการอาการทางลบ และ 2) เพื่อเปรียบเทียบการทำหน้าที่ของผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังระหว่างกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการจัดการอาการทางลบกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยกึ่งทดลอง
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังที่รับการรักษาในแผนกผู้ป่วยใน สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ จำนวน 40 ราย ได้รับการจับคู่ (Matched pair) และสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 ราย กลุ่มทดลองได้รับการดูแลตามโปรแกรมการจัดการอาการทางลบที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ประกอบด้วย 7 กิจกรรม เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ โปรแกรมการจัดการอาการทางลบ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบวัดทักษะชีวิต และแบบประเมินอาการทางจิตโรคจิตเภทฉบับภาษาไทย เฉพาะอาการทางลบ ซึ่งมีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหา เท่ากับ .92 และ 1 ตามลำดับ และมีค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .88 และ .85 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัย: 1) คะแนนเฉลี่ยการทำหน้าที่ของผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังหลังได้รับโปรแกรมการจัดการอาการทางลบสูงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 2) คะแนนเฉลี่ยการทำหน้าที่ของผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง กลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการจัดการอาการทางลบสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
สรุป: การใช้โปรแกรมการจัดการอาการทางลบในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังสามารถทำให้การทำหน้าที่ของผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังดีขึ้นได้ ซึ่งเป็นไปตามมติฐานที่ตั้งไว้
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ลิขสิทธิ์ของบทความที่ตีพิมพ์เป็นของวารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งฉบับตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและเอกสารออนไลน์