ผลของการประยุกต์ใช้ทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่อพฤติกรรมการป้องกันโรคกระดูกพรุน และการสลายมวลกระดูกในสตรีวัยก่อนหมดประจำเดือน
Main Article Content
Abstract
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการป้องกันโรคกระดูกพรุน และการสลายมวลกระดูกในสตรีวัยก่อนหมดประจำเดือนก่อนและหลังได้รับกิจกรรมการประยุกต์ใช้ทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
และระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยกึ่งทดลอง
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ สตรีวัยก่อนหมดประจำเดือนอายุ 30-45 ปี ที่อยู่ในระยะพฤติกรรมพร้อมที่จะปฏิบัติ ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวนกลุ่มละ 30 คน กลุ่มทดลองได้รับกิจกรรมการประยุกต์ใช้ทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ใน 2 สัปดาห์แรก และวัดผลหลังการทดลองในสัปดาห์ที่ 14 กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบบันทึกค่าสลายมวลกระดูก และแบบสอบถามพฤติกรรมการป้องกันโรคกระดูกพรุน มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ .80 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และสถิติทดสอบค่าที
ผลการวิจัย: 1) สตรีวัยก่อนหมดประจำเดือนหลังเข้าร่วมโครงการมีคะแนนพฤติกรรมการป้องกันโรคกระดูกพรุน ( = 68.73, SD = 4.59)สูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ ( = 64.67, SD = 5.83) และมีค่าการสลายมวลกระดูก ( = 0.233, SD = 0.05) น้อยกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ ( = 0.289, SD = 0.07) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001)
2) สตรีวัยก่อนหมดประจำเดือนที่เข้าร่วมโครงการมีค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการป้องกันโรคกระดูกพรุน ( = 68.73, SD = 4.59) ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม ( = 66.63, SD = 6.65) (p>.05) แต่มีค่าเฉลี่ยการสลายมวลกระดูก ( = 0.233, SD = 0.05) น้อยกว่ากลุ่มควบคุม ( = 0.296, SD = 0.08) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001)
สรุป: พยาบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ควรนำกิจกรรมการประยุกต์ใช้ทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มาใช้เป็นแนวทางส่งเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนและชะลอการสลายมวลกระดูกในสตรีวัยก่อนหมดประจำเดือน
Article Details
ลิขสิทธิ์ของบทความที่ตีพิมพ์เป็นของวารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งฉบับตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและเอกสารออนไลน์