ผลของโปรแกรมการมีส่วนร่วมของครอบครัวต่อความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัด
Main Article Content
Abstract
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการมีส่วนร่วมของครอบครัวต่อความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัด
แบบแผนงานวิจัย: เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัด ที่เข้ารับการรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัด ที่หน่วยเคมีบำบัด คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร และบุคคลในครอบครัวที่มีความสำคัญและใกล้ชิดซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 40 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 20 ราย และกลุ่มทดลอง 20 ราย โดยจับคู่ให้กลุ่มตัวอย่างมีความคล้ายคลึงกันในเรื่อง อายุ ระยะของโรค จำนวนชุดและสูตรเคมีบำบัดที่ได้รับ ความสัมพันธ์ของครอบครัว กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการมีส่วนร่วมของครอบครัว ซึ่งโปรแกรมนี้ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นโดยประยุกต์ใช้แนวคิดของเชปป์ (Schepp, 1995) ร่วมกับแนวคิดการสัมผัสของไวสส์ (Weiss, 1979) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบประเมินความวิตกกังวลขณะเผชิญ มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .84 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติเชิงพรรณนา สถิติทดสอบความแปรปรวน และสถิติทดสอบค่าที
ผลการวิจัย:
1) ความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัดภายหลังได้รับโปรแกรมการมีส่วนร่วมของครอบครัวต่ำกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2) ความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัดภายหลังได้รับโปรแกรมการมีส่วนร่วมของครอบครัวต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
สรุป: ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพทางการพยาบาล โดยการสนับสนุนให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลเพื่อลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับเคมีบำบัดและสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าสู่กระบวนการเผชิญปัญหาได้อย่างเหมาะสม
Article Details
ลิขสิทธิ์ของบทความที่ตีพิมพ์เป็นของวารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งฉบับตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและเอกสารออนไลน์