การสร้างเครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลัน ในผู้สูงอายุหลังผ่าตัด
Main Article Content
Abstract
วัตถุประสงค์: เพื่อออกแบบ สร้าง และตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุหลังผ่าตัด
แบบแผนงานวิจัย: การวิจัยเชิงบรรยาย
วิธีดำเนินการวิจัย: การพัฒนาเครื่องมือแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การสร้างแบบประเมินความเสี่ยงต่อภาวะสับสนเฉียบพลันหลังผ่าตัดสำหรับผู้สูงอายุ ประกอบด้วยปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมและการทบทวนข้อมูลย้อนหลังภาวะสับสนเฉียบพลันหลังผ่าตัดของผู้สูงอายุจากบันทึกทางการพยาบาล และบันทึกอาการ ได้ปัจจัยเสี่ยง 7 ข้อ คือ อายุที่เพิ่มขึ้น ประวัติติดสุรา ภาวะซึมเศร้าก่อนผ่าตัด การได้รับยากลุ่ม Benzodiazepines, Anticholinergics ความผิดปกติของเชาวน์ปัญญา การคิด การรับรู้ ระดับอิเล็กโตรไลท์ในเลือดไม่สมดุล และระดับฮีโมโกลบิน ฮีมาโตรคริตที่ผิดปกติ จากนั้น จึงจัดทำเครื่องมือ ตรวจสอบความตรงจากผู้เชี่ยวชาญ 5 คน ผลค่าความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ 1.0 ระยะที่ 2 การตรวจสอบแบบประเมินความเสี่ยงต่อภาวะสับสนเฉียบพลันหลังผ่าตัดสำหรับผู้สูงอายุ โดยนำไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ทั้งเพศชายและเพศหญิงที่เข้ารับการผ่าตัดทางศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์แผนกผู้ป่วยในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิเขตกรุงเทพฯ จำนวน 300 คน
ผลการวิจัย: ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างแบบประเมินภาวะสับสนเฉียบพลันหลังผ่าตัดสำหรับผู้สูงอายุและเครื่องมือมาตรฐานมีความสัมพันธ์กันสูง (r = .84) และมีค่า z = 0.2 และ z1= 0.33 แสดงว่าความสามารถในการทดสอบของเครื่องมือทั้งสองชนิดไม่มีความแตกต่างกัน ได้ค่าความไวร้อยละ 88.46 - 92.0 ค่าความเฉพาะร้อยละ 100 แสดงว่าเครื่องมือที่สร้างขึ้นใหม่นี้สามารถค้นหา และคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะสับสนเฉียบพลันได้
สรุป:แบบประเมินความเสี่ยงต่อภาวะสับสนเฉียบพลันหลังผ่าตัดสำหรับผู้สูงอายุเป็นเครื่องมือที่มีความไวและค่าความเฉพาะที่ดีสามารถคัดกรองภาวะสับสนเฉียบพลันหลังผ่าตัดในผู้สูงอายุได้
Article Details
ลิขสิทธิ์ของบทความที่ตีพิมพ์เป็นของวารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งฉบับตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและเอกสารออนไลน์