ผลการพยาบาลเพื่อลดความเจ็บปวดและการพยาบาลแบบผู้ปกครองมีส่วนร่วม ต่อความกลัวการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำในเด็กวัยก่อนเรียน

Main Article Content

เติมสุข รักษ์ศรีทอง
วราภรณ์ ชัยวัฒน์

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความกลัวการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำของเด็กวัยก่อนเรียน  ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ  กลุ่มที่ได้รับการพยาบาลเพื่อลดความเจ็บปวด  กลุ่มที่ได้รับการพยาบาลแบบผู้ปกครองมีส่วนร่วม  และกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลเพื่อลดความเจ็บปวดร่วมกับการพยาบาลแบบผู้ปกครองมีส่วนร่วม 

แบบแผนงานวิจัย: การวิจัยกึ่งทดลอง

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กวัยก่อนเรียนที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรมพิเศษและสามัญ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำเป็นครั้งแรก  จำนวน  80  ราย  สุ่มเข้ากลุ่มทดลอง 4 กลุ่มๆ ละ 20 คน ประเมินความกลัวโดยแบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมความกลัวการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำของเด็กวัยก่อนเรียน  มีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ .82  และค่าความเที่ยงของการสังเกตเท่ากับ .98  วิเคราะห์คะแนนพฤติกรรมความกลัวการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำของเด็กวัยก่อนเรียนโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวน ANOVA

ผลการวิจัย:

1) ผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียนที่ได้รับการพยาบาลเพื่อลดความเจ็บปวด  มีความกลัวน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 

2) ผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียนที่ได้รับการพยาบาลแบบผู้ปกครองมีส่วนร่วม  มีความกลัวน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 

3) ผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียนที่ได้รับการพยาบาลเพื่อลดความเจ็บปวดร่วมกับการพยาบาลแบบผู้ปกครองมีส่วนร่วม มีความกลัวน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลเพื่อลดความเจ็บปวด กลุ่มที่ได้รับการพยาบาลแบบผู้ปกครองมีส่วนร่วม  กลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05

สรุป: การพยาบาลเพื่อลดความเจ็บปวดร่วมกับการพยาบาลแบบผู้ปกครองมีส่วนร่วมส่งผลให้ผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียนมีความกลัวการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียนได้รับการพยาบาลเพื่อลดความเจ็บปวด กลุ่มที่ได้รับการพยาบาลแบบผู้ปกครองมีส่วนร่วม และกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ

Article Details

Section
Research articles