การพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเพื่อการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ตามวิถีวัฒนธรรมสุขภาพลุ่มแม่น้ำโขง (หมู่บ้านซะซอม) จังหวัดอุบลราชธานี

Main Article Content

สุรีย์ ธรรมิกบวร
ชุภาศิริ อภินันท์เดชา

Abstract

วัตถุประสงค์:เพื่อพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมสุขภาพตามวิถีวัฒนธรรมสุขภาพลุ่มแม่น้ำโขงสำหรับนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ

รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงปฏิบัติการ

วิธีดำเนินการวิจัย: พื้นที่ศึกษา คือ บ้านซะซอม ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาประกอบด้วย สมาชิกกลุ่ม "กินข้าวเซาเฮือน" จำนวน 14 คน คณะกรรมการกลุ่มโฮมสเตย์บ้านซะซอม จำนวน 12 คน ผู้สูงอายุบ้านซะซอม จำนวน 8 คน และนักท่องเที่ยวสูงอายุที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 28 คน การดำเนินการวิจัยมี 3 ระยะ  ระยะที่ 1 ศึกษาบริบทชุมชน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสำรวจวิถีชุมชน และแบบสัมภาษณ์การรับรู้สุขภาวะของนักท่องเที่ยวสูงอายุ ระยะที่ 2 กระบวนการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุตามวิถีชาวบ้านลุ่มแม่น้ำโขง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แนวทางการสนทนากลุ่ม และแบบสังเกตอย่างมีส่วนร่วม ระยะที่ 3 การศึกษาผลการพัฒนา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย โปรแกรมการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุตามวิถีวัฒนธรรมสุขภาพลุ่มแม่น้ำโขง แบบสอบถามความสุขและความพึงพอใจในการเข้าร่วมโปรแกรมการท่องเที่ยว  แบบประเมินศักยภาพของชุมชนในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ความถี่ ร้อยละ และค่าเฉลี่ย

ผลการวิจัย: ด้านบริบทชุมชน บ้านซะซอม ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี สภาพภูมิศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยว และชุมชนมีศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุมีความสุขและความพึงพอใจจากเข้าร่วมโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในระดับมาก และมากที่สุด ร้อยละ 93.8 และ 93.8 องค์ประกอบโมเดล รูปแบบการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมสุขภาพตามวิถีวัฒนธรรมสุขภาพลุ่มแม่น้ำโขง (ซะซอมโมเดล) ประกอบด้วยองค์ประกอบที่ 1 กิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวม องค์ประกอบที่ 2 ทุนทางสังคม องค์ประกอบที่ 3 การบริหารจัดการตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง องค์ประกอบที่ 4 การส่งเสริมสุขภาพเหมาะสมกับวัย

สรุป: จากผลการศึกษาดังกล่าว มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว หน่วยงานด้านการปกครอง สถาบันการศึกษาร่วมกับชุมชนที่มีความพร้อมมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จัดการท่องเที่ยวเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยรูปแบบการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุ ควรเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพเป็นองค์รวม ลักษณะกิจกรรมสอดคล้องกับวัย และใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ โดยมีระบบการจัดการตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

Article Details

Section
Research articles