การวิเคราะห์ปัจจัยจำแนกการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และวัยรุ่นที่ไม่ตั้งครรภ์

Main Article Content

นุชรีย์ แสงสว่าง
ณัฐธยาน์ วิสารพันธ์

Abstract

วัตถุประสงค์: 1)เพื่อศึกษาลักษณะครอบครัวของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และวัยรุ่นที่ไม่ตั้งครรภ์ 2) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยจำแนกกลุ่มและอำนาจพยากรณ์การเป็นสมาชิกกลุ่มที่จำแนกกลุ่มวัยรุ่นที่มีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและไม่ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

รูปแบบการวิจัย: กลุ่มเปรียบเทียบ (Case control study)

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงวัยรุ่นอายุ 13-19 ปี โดยแบ่งเป็นกลุ่มศึกษา คือ หญิงวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ในโรงพยาบาลตติยภูมิ และกลุ่มควบคุม คือ วัยรุ่นหญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ที่ศึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวนกลุ่มละ 85 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามการสื่อสารเรื่องเพศกับผู้ปกครอง และแบบสอบถามการรับรู้ผลกระทบของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ .87 และ .66 วิเคราะห็ข้อมูลด้วยสถิติการวิเคราะห์จำแนกประเภท (Discriminant analysis)

ผลการวิจัย: 1) วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์มีอายุเฉลี่ยของมารดาที่มีบุตรคนแรก และคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ผลกระทบของการตั้งครรภ์น้อยกว่าวัยรุ่นหญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ (21.84  vs. 26.08; 45.12  vs 51.68, p = .000 ตามลำดับ)

            2) ปัจจัยที่สามารถจำแนกกลุ่มวัยรุ่นที่มีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและไม่ตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้มี 4 ปัจจัยคือ อายุของกลุ่มตัวอย่างการรับรู้ผลกระทบของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุที่มารดามีบุตรคนแรก และการสื่อสารเรื่องเพศกับผู้ปกครอง (.712,-.496, -.475 และ .241 ตามลำดับ)

          3) สมการจำแนกกลุ่ม พยากรณ์การเป็นสมาชิกของกลุ่มวัยรุ่นที่มีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ได้ร้อยละ 76.5 และกลุ่มที่ไม่ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ได้ร้อยละ 89.4 และพยากรณ์การเป็นสมาชิกของกลุ่มโดยเฉลี่ยได้ร้อยละ 82.9

สรุป: ปัจจัยด้านอายุของกลุ่มตัวอย่าง การรับรู้ผลกระทบของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อายุที่มารดามีบุตรคนแรก และการสื่อสารเรื่องเพศกับผู้ปกครอง เป็นปัจจัยที่สามารถจำแนกกลุ่มวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์และไม่ตั้งครรภ์ได้ จึงควรนำปัจจัยดังกล่าวมาวางแผนเพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นต่อไป

Article Details

Section
Research articles