บทบาทของพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนในยุค ประเทศไทย 4.0
Main Article Content
Abstract
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาบทบาทของพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนในยุคประเทศไทย 4.0
แบบแผนการวิจัย: การวิจัยเชิงพรรณนาโดยใช้เทคนิคเดลฟาย
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 19 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารทางการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน 5 คน ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงสาขาเวชปฏิบัติชุมชน 5 คน อาจารย์พยาบาลสาขาพยาบาลชุมชน 3 คน อาจารย์พยาบาลสาขาบริหารการพยาบาล 2 คน แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 2 คน และผู้กำหนดนโยบาย 2 คน คัดเลือกแบบเจาะจงตามคุณสมบัติ คือ เป็นผู้เชี่ยวชาญการบริหารงานและการปฏิบัติการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน และใช้วิธีการบอกต่อ วิธีดำเนินการวิจัยประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบทบาทของพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนในยุคประเทศไทย4.0 ขั้นตอนที่ 2 นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์สาระสำคัญแล้วนำมาสร้างแบบสอบถามเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับระดับความสำคัญขององค์ประกอบย่อยในแต่ละบทบาท และขั้นตอนที่ 3 นำความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาคำนวณหาค่ามัธยฐานและค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ และให้ผู้เชี่ยวชาญยืนยันความคิดเห็นอีกครั้ง แล้วนำข้อมูลมาคำนวณหาค่ามัธยฐาน และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ เพื่อสรุปผลการวิจัย
ผลการวิจัย: บทบาทของพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนในยุคประเทศไทย 4.0 มีองค์ประกอบทั้งหมด 7 ด้าน และมีข้อรายการย่อย 55 ข้อ ได้แก่ 1) ด้านผู้ปฏิบัติการพยาบาล จำนวน 9 ข้อ 2) ด้านผู้จัดการรายกรณีโรคเรื้อรัง จำนวน 7 ข้อ 3) ด้านการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ จำนวน 8 ข้อ 4) ด้านหุ้นส่วนสุขภาพ จำนวน 9 ข้อ 5) ด้านผู้จัดการการดูแล จำนวน 8 ข้อ 6) ด้านการจัดการการดูแลระยะกลาง จำนวน 7 ข้อ และ 7) ด้านการพัฒนาคุณภาพ จำนวน 7 ข้อ โดยองค์ประกอบทั้ง 7 ด้าน พบว่า มีข้อรายการย่อยจำนวน 42 ข้อ มีความสำคัญอยู่ในระดับมากที่สุด และมีข้อรายการย่อยจำนวน 13 ข้อ มีความสำคัญในระดับมาก
สรุป: ผู้บริหารทางการพยาบาลสามารถใช้ผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาบทบาทของพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน และพยาบาลใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาบทบาทของตนเอง เพื่อให้สอดคล้องกับยุคประเทศไทย4.0
Article Details
ลิขสิทธิ์ของบทความที่ตีพิมพ์เป็นของวารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งฉบับตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและเอกสารออนไลน์