ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการจัดการตนเองของผู้สูงอายุ กลุ่มอาการโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน

Main Article Content

ภรปภา จันทร์ศรีทอง
ทัศนา ชูวรรธนะปกรณ์

Abstract

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาพฤติกรรมการจัดการตนเอง และปัจจัยทำนายพฤติกรรมการจัดการตนเองของผู้สูงอายุกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน ในโรงพยาบาลตติยภูมิ กรุงเทพมหานคร
รูปแบบการวิจัย : การวิจัยแบบพรรณนาเชิงทำนาย
วิธีดำเนินการวิจัย : กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน มารับการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกอายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 111 คน โดยการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามพฤติกรรมการจัดการตนเอง แบบสอบถามการรับรู้สมรรถนะแห่งตน แบบประเมินเรื่องความเปราะบาง และแบบสอบถามการสนับสนุนจากครอบครัว และหาค่าความเที่ยงของแบบสอบถามได้เท่ากับ 0.97, 0.91, 0.80 และ 0.99 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียรสัน และสถิติวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบถดถอยแบบใช้ทุกตัวแปรเป็นตัวทำนาย
ผลการวิจัย : 1. ผู้สูงอายุกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน มีพฤติกรรมการจัดการตนเองโดยรวมอยู่ในระดับมาก ( = 63.19, SD =11.68)
2. การสนับสนุนจากครอบครัว, การรับรู้สมรรถนะแห่งตนมีความสัมพันธ์ทางบวกระดับสูงกับพฤติกรรมการจัดการตนเอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = 0.739 และ r = 0.738), เพศมีความสัมพันธ์ทางบวกระดับต่ำ กับพฤติกรรมการจัดการตนเอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 (r=0.169) ความเปราะบาง มีความสัมพันธ์ทางลบระดับปานกลางกับพฤติกรรมการจัดการตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = -.599) และภาวะโรคร่วมไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการจัดการตนเอง
3. การรับรู้สมรรถนะแห่งตน การสนับสนุนจากครอบครัว เพศ และความเปราะบาง สามารถร่วมทำนายพฤติกรรมการจัดการตนเองของกลุ่มตัวอย่างได้ ร้อยละ 69.6 (R2=.696) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


สรุป : พยาบาลควรส่งเสริมพฤติกรรมการจัดการตนเองของผู้สูงอายุ โดยเน้นการเพิ่มสมรรถนะแห่งตน ร่วมกับการให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงเพศ และภาวะเปราะบางของผู้สูงอายุแต่ละคนเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์คือคงไว้ซึ่งพฤติกรรมการจัดการตนเองที่เหมาะสมและการคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

Article Details

Section
Research articles