การสำรวจการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัว ในจังหวัดตาก: ความคาดหวัง การได้รับ บริการสุขภาพ และความพึงพอใจ ของผู้ป่วย กลุ่มเป้าหมายและผู้ดูแล
คำสำคัญ:
ระบบบริการสาธารณสุข, คลินิกหมอครอบครัว, ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง, ผู้ดูแล, ผลการดำเนินงาน, ความพึงพอใจบทคัดย่อ
บทนำ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และพัฒนาให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลในยุคนี้จึงปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิโดยจัดให้มีคลินิกหมอครอบครัว (PCC: primary care cluster) และดูแลตามหลักการเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณส่วนหนึ่งในการพัฒนานโยบายดังกล่าว ผู้วิจัยจึงเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่โดยพัฒนาเครื่องมือในการสำรวจเพื่อทราบสถานการณ์การดำเนินงาน ที่ส่งผลโดยตรงสู่ประชาชน
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานที่เกิดกับกลุ่มเป้าหมายที่มีภาวะพึ่งพิง และเพื่อพัฒนาการประเมินผลการดำเนินงานเสนอแนวทางการเสริมพลังเพื่อสร้างความสำเร็จของนโยบายนี้ให้ยั่งยืน
วิธีการศึกษา การสำรวจโดยใช้แบบสอบถามลักษณะทั่วไป ภาวะสุขภาพในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา คุณภาพและความพึงพอใจในการให้บริการโดยใช้ rating scale จาก 1 (น้อยที่สุด) ถึง 5 (มากที่สุด) กลุ่มประชากรเป้าหมายได้แก่ ประชากรที่ขึ้นทะเบียนกับคลินิกหมอครอบครัวในพื้นที่จังหวัดตาก ตัวอย่างคือผู้รับบริการสุขภาพซึ่งเป็นประชากรเป้าหมายของการดำเนินงานระยะแรกตามนโยบายคลินิกหมอครอบครัว ประกอบด้วยเป้าหมาย 4 ประเภท ได้แก่ 1) กลุ่มผู้สูงอายุที่ติดบ้าน/ติดเตียงหรือผู้ดูแล 2) กลุ่มผู้พิการ 3) กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง และ 4) กลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ดูแล ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ทำการเก็บตัวอย่าง โดยเก็บตัวอย่างในวันที่ผู้ป่วยมารับการรักษาที่คลินิกหมอครอบครัว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 และสัมภาษณ์ผู้ที่ขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุติดบ้าน/ติดเตียง ผู้พิการ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย (mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation: SD)
ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นหญิงสูงวัย (ร้อยละ 65.8) ที่มีภาวะพึงพิง ภาวะสุขภาพในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 51.6 อยู่ในสภาวะทรงตัว ร้อยละ 67.4 มีความคาดหวังว่าให้สุขภาพดีขี้น การได้รับบริการโรคเรื้อรังตามหลักการเวชศาสตร์ครอบครัวอยู่ในเกณฑ์ดีเกินร้อยละ 80 มีความพึงพอใจในการจัดบริการด้านสุขภาพ ด้านชุมชน และด้านสังคม รวมทั้งระบบการให้บริการสุขภาพ โดยมีค่าเฉลี่ยมากกว่า 3.5 (เกณฑ์ 1-5) ทีมคลินิกหมอครอบครัวยังมีองค์ความรู้ไม่เป็นทิศทางเดียวกัน
สรุป การจัดบริการคลินิกหมอครอบครัวให้แก่ประชาชนกลุ่มบุคคล 4 ประเภท ในระยะแรกเพื่อให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ กลุ่มเป้าหมายมีความพึงพอใจปานกลางถึงมาก ส่วนการบริการดูแลโรคเรื้อรังอยู่ในเกณ์ดีเป็นจำนวนมาก และทีมทำงานยังมีความรู้ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงควรมีการพัฒนาองค์ความรู้ของทีมหมอครอบครัวทั้งด้านวิชาการ การจัดการ และสร้างแนวทางปฏิบัติให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับและประกาศใช้ต่อไป ดังนั้นจึงควรพัฒนาบริการไร้รอยต่อโดยต่อยอดจากจุดเน้นผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุที่ดำเนินการได้ดีแล้ว และกระตุ้นความคิด จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ประชาชนเห็นความสำคัญและร่วมมือในการดูแลสุขภาพตนเองและชุมชน รวมทั้งเผยแพร่ให้เป็นแบบอย่างแก่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป
References
2. สำนักบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัวสำหรับหน่วยบริการ. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. 2559.
3. กัญญสิริ จันทร์เจริญ. การกำหนดประชากรและกลุ่มตัวอย่าง. 2554. (ระบบออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 มีนาคม 2561. เข้าถึงได้จาก http://www.ict.up.ac.th/surinthips/ResearchMethodology_2554/เอกสารเพิ่มเติม/การกำหนดประชากรและกลุ่มตัวอย่าง.PDF
4. สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. รายงานการวิจัยสถาณการณ์การบริการทางการแพทย์ในผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. 2550.
5. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.), สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2559. กรุงเทพมหานคร: บริษัท พริ้นเทอร๋ จำกัด. 2560.
6. ศศิพัฒน์ ยอดเพชร: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการระบบการดูแลระยะยาวในครอบครัวสำหรับผู้สูงอายุ. กรุงเทพมหานคร: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2549.
7. วิชาญ ปาวัน, กรัณฑรัตน์ บุญช่วยธนาสิทธิ์, จักรกฤษณ์ พลราชม, มาสริน ศุกลปักษ์. การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และพฤติกรรมการป้องกันโรคและภัยสุขภาพของประชาชนไทย ประจำปี 2559. วารสารวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ. 2560; 11: 70-78.
8. ศิริวรรณ เสรีรัตน์. พฤติกรรมผู้บริโภค. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ Diamond In Business World. 2546. น. 256-7.
9. มูลนิธิแพทย์ชนบท. คู่มือทีมหมอครอบครัวมืออาชีพ. กรุงเทพมหานคร: บริษัท สร้างสื่อ จำกัด. 2558.
10. ขนิษฐา นันทบุตร และ คณะ. กรณีศึกษานวัตกรรมการดูแลสุขภาพชุมชน: การจัดการโรคเรื้อรังในชุมชน. นนทบุรี: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์. 2550.