การจัดการความรู้ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุภาคตะวันออก : กรณีศึกษาจังหวัดชลบุรีและจังหวัดสระแก้ว
คำสำคัญ:
การจัดการความรู้, สุขภาพ, การดูแลผู้สูงอายุ, ผู้ดูแล, ชุมชนนักปฏิบัติบทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลที่ได้จากการจัดการความรู้ ในด้านความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพ และรูปแบบการจัดการความรู้ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ สมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแลที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้สูงอายุ ในชุมชนภาคตะวันออก กรณีศึกษาจังหวัดชลบุรีและสระแก้ว
วิธีการศึกษา ใช้การวิจัยแบบมีส่วนร่วมตามกระบวนการจัดการความรู้ โดยประชากร คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 - 75 ปี จำนวน 6,512 คน สมาชิกในครอบครัวและชุมชนหรือผู้ดูแลผู้สูงอายุ อย่างน้อย 1 คนจาก 42,339 ครัวเรือน จากชุมชนเทศบาลเมืองแสนสุขและเทศบาลเมืองสระแก้ว กลุ่มตัวอย่าง คัดเลือกแบบเจาะจงรวมทั้งสิ้น 180 คน จากชุมชนเทศบาลเมืองแสนสุข 90 คน (ผู้สูงอายุ 43 คน สมาชิกหรือผู้ดูแล 47 คน) และจากชุมชนเทศบาลเมืองสระแก้ว 90 คน (ผู้สูงอายุ 43 คน สมาชิกหรือผู้ดูแล 47 คน) เครื่องมือเป็นแบบประเมินความรู้และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ สมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแล และชุมชน แบบสัมภาษณ์ใช้แบบกึ่งมีโครงสร้าง แบบบันทึกคลังความรู้โดยใช้การถอดบทเรียน (lesson learn) เพื่อหาแนวปฏิบัติที่ดี ใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน paired t-test และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษาวิจัย พบว่า ผลการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยความรู้ พฤติกรรม ก่อนและหลังการเรียนรู้จากกระบวนการจัดการความรู้ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุ มีค่าเฉลี่ยความรู้ด้านสุขภาพโดยรวมหลังการเรียนรู้มากกว่าก่อนการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และเมื่อเปรียบเทียบเป็นรายด้าน พบว่า ผู้สูงอายุมีความรู้ทุกด้านมากกว่าก่อนการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนพฤติกรรมด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุมีค่าเฉลี่ยพฤติกรรมสุขภาพหลังการเรียนรู้มากกว่าก่อนการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และเมื่อเปรียบเทียบเป็นรายด้าน พบว่า พฤติกรรมด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการป้องกันโรคและภาวะแทรกซ้อนจากการเจ็บป่วยมีค่าเฉลี่ยมากกว่าก่อนการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 พฤติกรรมการรับประทานยามากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนพฤติกรรมด้านการจัดการอารมณ์ ไม่แตกต่างกัน ในกลุ่มผู้ดูแลในครอบครัวและชุมชน พบว่า มีค่าเฉลี่ยความรู้ด้านสุขภาพโดยรวมหลังการเรียนรู้มากกว่าก่อนการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และเมื่อเปรียบเทียบเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านมีความรู้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
จากการถอดบทเรียน ได้แนวปฏิบัติที่ดีในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนนักปฏิบัติโดยมีชุมชนนักปฏิบัติเกิดขึ้น 5 กลุ่ม ได้แก่
- ชุมชนนักปฏิบัติ กลุ่มอาหารสำหรับผู้สูงอายุ พบประเด็นสำคัญ 6 ประการ คือ 1) อาหารที่ผู้สูงอายุควรกิน 2) อาหารที่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยง 3) อาหารสำหรับผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน 4) อาหารควบคุมน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน 5) อาหารช่วยการขับถ่ายในผู้สูงวัย และ 6) หลักการรับประทานอาหารเพื่อภาวะโภชนการที่ดีในผู้สูงอายุ
- ชุมชนนักปฏิบัติ กลุ่มการออกกำลังกายในผู้สูงวัย พบประเด็นสำคัญ 6 ประการ คือ 1) หลักปฏิบัติในการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ 2) การออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักในผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานหรือโรคอ้วน 3) รูปแบบการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ 4) การใช้แรงในชีวิตประจำวันกับการออกกำลังกาย 5) ข้อห้ามหรือพึงระวังในการออกำลังกายของผู้สูงอายุ และ 6) หลักการออกกำลังกาย F.I.T.T.E สำหรับผู้สูงอายุ ประกอบด้วย Frequency ความถี่, Intensity ความหนัก, Time เวลา, Type ชนิด, และEnjoyment ความสนุกสานในการออกกำลังกาย
- ชุมชนนักปฏิบัติ กลุ่มการจัดการอารมณ์และความเครียดในผู้สูงอายุ พบประเด็นสำคัญ 5 ประการ คือ 1) วิธีการคลายเครียด 2) การสร้างความสุขในชีวิตประจำวัน 3) แบบวัดและเฝ้าระวังความเครียด 4) แบบวัดภาวะซึมเศร้า และ 5) วิธีการฝึกจิต/สมาธิ
- ชุมชนนักปฏิบัติ กลุ่มรู้เรื่องยาในผู้สูงอายุ พบประเด็นสำคัญ 4 ประการ คือ 1) หลักการใช้ยาในผู้สูงอายุ 2) วิธีการรับประทานยาที่ถูกต้อง 3) พฤติกรรมการใช้ยาไม่เหมาะสมที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ 4) ความรู้เกี่ยวกับยาในกลุ่มยาที่ใช้บ่อยในผู้สูงอายุ เช่น กลุ่มยารักษาโรคประจำตัว อาทิ ยาลดความดันโลหิต กลุ่มยานอนหลับและยาคลายความวิตกกังวล กลุ่มยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อ และกลุ่มยาวิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพร
- ชุมชนนักปฏิบัติ กลุ่มรู้เท่าทันโรคภัยไข้เจ็บในผู้สูงอายุ พบประเด็นสำคัญ 6 ประการ คือ 1) โรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน โรคไต 2) วิธีการป้องกันอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ 3) หกล้ม 4) โรคกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ 5) การตรวจสุขภาพ และ 6) โรคสมองเสื่อม
สรุป การวิจัยแบบมีส่วนร่วมโดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้ทำให้ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ดูแลในครอบครัวและชุมชน มีความรู้ด้านสุขภาพทุกด้านและมีพฤติกรรมสุขภาพทุกด้านหลังกระบวนการการจัดการเรียนรู้ ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้นพฤติกรรมด้านการจัดการอารมณ์ของผู้สูงอายุซึ่งพบว่ายังไม่มีความแตกต่างกันระหว่างก่อนและหลังกระบวนการการจัดการเรียนรู้ นอกจากนั้นการจัดการความรู้ทำให้เกิดชุมชนนักปฏิบัติ 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนด้านอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการอารมณ์และความเครียด รู้เรื่องยา และรู้เท่าทันโรคภัยไข้เจ็บในผู้สูงอายุ
References
2. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. รายงานสถิติรายปีประเทศไทย พ.ศ.2553 (ฉบับพิเศษ). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ; 2553.
3. สํานักงานสถิติแห่งชาติ. รายงานผลเบื้องต้น สำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2557.
กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ; 2557.
4. Cronbach, Lee J. Essentials of Psychological Testing. New York: Harper & Row. 1970.
5. วิไลวรรณ ทองเจริญ, จันทนา รณฤทธิวิชัย, สมจินต์ เพชรพันธุ์ศรี, ณัฐสุรางค์ บุญจันทร์, วรวรรณ วาณิชย์เจริญชัย. ประสิทธิผลของกระบวนการจัดการความรู้ต่อความรู้และการจัดการปัญหาความดันโลหิตสูงของผู้สูงอายุ. J Nurs Sci. 2011; 29: 103-112.
6. รุ่งนภา หนูม่วง. การจัดการความรู้ในการดำเนินงานชมรมสร้างสุขภาพของแกนนำชุมชน ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา. บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. 2552.
7. สุนทร โสภณอัมพรเสนีย์. การพัฒนาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุโดยกระบวนการสร้างเสริมพลังอำนาจ บ้านหนองพลวง ตำบลหนองพลวง อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา. สาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาสุขภาพชุมชน. มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา. 2551.