โครงการประเมินผลทุนพัฒนาศักยภาพอาจารย์แพทย์ด้านวิจัยกับผลงานวิจัย ที่ได้รับการตีพิมพ์ ในระดับนานาชาติของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
DOI:
https://doi.org/10.14456/jmu.2014.10คำสำคัญ:
ทุนพัฒนาศักยภาพอาจารย์แพทย์ด้านวิจัย, ผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีบทคัดย่อ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำในระดับสากล และเป็นประทีปส่องทางด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งจะต้องดำเนินงานใน 3 พันธกิจหลักได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านการวิจัย และด้านการบริการสุขภาพ โดยเน้นการวิจัยเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ แต่อย่างไรก็ตามผลงานวิจัยของคณะฯ ก็ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จำเป็นที่จะต้องผลิตผลงานวิจัยเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดโครงการทุนพัฒนาศักยภาพอาจารย์แพทย์ด้านวิจัย เพื่อเพิ่มผลงานวิจัยของคณะฯ ทั้งในส่วนของจำนวนและคุณภาพของผลงานวิจัย ในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะทำการประเมินผลลัพธ์ของโครงการฯ ในรูปแบบของจำนวนผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ จากฐานข้อมูล Scopus , PubMed และ Web of Science โดยทำการศึกษาย้อนหลัง 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2554–2556 พบว่าในปี พ.ศ. 2554 มีอาจารย์แพทย์รับทุน จำนวน 17 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 8,694,750 บาท ในปี พ.ศ. 2555 จำนวน 19 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 8,834,182 บาท และในปี พ.ศ. 2556 จำนวน 24 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 10,494,330 บาท ในส่วนของผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ในปี พ.ศ. 2554 จำนวน 59 เรื่อง จากจำนวนผลงานวิจัยทั้งหมด 244 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 24.18 หรือ 3.47 เรื่องต่อคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2555 จำนวน 69 เรื่อง จากจำนวนทั้งหมด 261 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 26.44 หรือ 3.64 เรื่องต่อคนต่อปี และในปี พ.ศ. 2556 จำนวน 81 เรื่อง จากจำนวนทั้งหมด 243 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 33.33 หรือ 3.37 เรื่องต่อคนต่อปี ในขณะที่ผลงานวิจัยของอาจารย์แพทย์ทั้งหมดทำได้ 0.44, 0.46 และ 0.42 เรื่องต่อคนต่อปี ระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2556 และเมื่อคิดเป็นร้อยละของจำนวนอาจารย์แพทย์ที่รับทุนต่อจำนวนอาจารย์แพทย์ทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2554 คิดเป็นร้อยละ 3.06 ในปี พ.ศ. 2555 คิดเป็นร้อยละ 3.37 และในปี พ.ศ. 2556 คิดเป็นร้อยละ 4.21 ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากลุ่มอาจารย์แพทย์ที่รับทุนคิดเป็นร้อยละ 3.55 ของอาจารย์ทั้งหมด แต่สามารถผลิตผลงานวิจัยได้ร้อยละ 27.98 ของผลงานวิจัยทั้งหมดของคณะฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการทุนพัฒนาศักยภาพอาจารย์แพทย์ด้านวิจัย ได้ผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพอใจอย่างเป็นรูปธรรม แต่ข้อด้อยของโครงการนี้ที่สำคัญคือการที่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนอาจารย์แพทย์กลุ่มนี้ได้มากพอ ดังนั้น คณะฯ จะต้องทำงานเชิงรุกในการค้นหาอาจารย์แพทย์รุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นอาจารย์แพทย์นักวิจัยให้เข้าสู่โครงการในจำนวนที่มากพออย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.21 ไปเป็นประมาณร้อยละ 12-15 ก็จะเป็นจุดคานงัดให้ผลงานวิจัยของคณะฯ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดที่ชัดเจน สำหรับเป้าหมายระยะสั้น
References
2. ประกาศคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการนำเสนอผลงานทางวิชาการและการวิจัยลงตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์, 2556
3. ประกาศคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเดินทางไปประชุมและเสนอผลงานทางวิชาการ ณ ต่างประเทศ, 2556
4. ประกาศคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินค่าตอบแทนแก่ผู้มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับสากล, 2555
5. ประกาศคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เรื่อง ทุนพัฒนาศักยภาพในการทำวิจัยของอาจารย์แพทย์, 2556
6. ประกาศคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เรื่อง หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้สมัครขอรับทุนพัฒนาศักยภาพในการทำวิจัยของอาจารย์แพทย์, 2553