การพัฒนาตัวชี้วัดคุณภาพเพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน คลินิกส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • จริญญา พินิจพงษ์
  • ศุภฤกษ์ สื่อรุ่งเรือง

DOI:

https://doi.org/10.14456/jmu.2017.22

คำสำคัญ:

ตัวชี้วัดคุณภาพเบาหวาน, ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

บทคัดย่อ

          คลินิกส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ เริ่มให้การดูแลติดตามผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ทั้งนี้โรคเบาหวานถือเป็นปัญหาที่สำคัญของคลินิกฯ ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังคณะผู้ศึกษาซึ่งรับผิดชอบงานนี้โดยตรงจึงมีความสนใจที่จะพัฒนากระบวนการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยใช้ตัวชี้วัดคุณภาพ

          การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนและเปรียบเทียบแนวทางการดูแลผู้ป่วยเบาหวานจากแหล่งอ้างอิงต่างๆ ในประเทศกับแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่เป็นมาตรฐานสากล และพัฒนาตัวชี้วัดคุณภาพที่สะท้อนคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ตรงขึ้น เอกสารอ้างอิงที่ทบทวนที่เผยแพร่ในช่วงปี พ.ศ.2558 - 2560 ได้แก่  แนวทางการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของสมาคมโรคเบาหวานของสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association; ADA) ตัวชี้วัดคุณภาพต้นแบบโดยเครือข่ายเวชปฏิบัติที่ดีทางคลินิกเพื่อการพัฒนาการดูแลโรคเบาหวาน (Toward Clinical Excellence Network-DM; TCEN-DM) ตัวชี้วัดคุณภาพตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข และเกณฑ์ของ            กรมควบคุมโรค

          จากการศึกษาพบว่า แม้ชื่อตัวชี้วัดคุณภาพเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างในรายละเอียด โดยเฉพาะประเด็นการควบคุมโรคเบาหวาน ด้วยการกำหนดเป้าหมายระดับน้ำตาล กล่าวคือ ตัวชี้วัดในประเทศไทยซึ่งมีเกณฑ์ของ TCEN-DM เป็นต้นแบบได้กำหนดตัวเลขเป้าหมายที่ตายตัวเหมือนกันในผู้ป่วยทุกคน ขณะที่ ADA กำหนดตัวเลขเป้าหมายระดับน้ำตาลโดยให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient-Centered Approach) นอกจากนี้ยังพบว่าเกณฑ์ของ TCEN-DM มีรายละเอียดของตัวชี้วัดคุณภาพเรื่องการเข้าถึงบริการที่ครอบคลุมกระบวนการคัดกรอง การดูแลรักษาภาวะหรือโรคที่พบร่วม และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานในขณะที่แหล่งอ้างอิงอื่นๆ ไม่มี

          ผลจากการทบทวนนำมาสู่การพัฒนาตัวชี้วัดคุณภาพของคลินิกฯ ได้แก่ การควบคุมโรคเบาหวานได้โดยกำหนดเป้าหมายระดับน้ำตาล และระดับความดันโลหิตที่ควบคุมได้สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ขึ้นกับลักษณะเฉพาะแต่ละบุคคล ซึ่งผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องร่วมกันวางแผนเป้าหมายการดูแลรักษา

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-12-29

ฉบับ

บท

บทความวิจัย