ปัจจัยทำนายขนาดยาวาร์ฟารินและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับไอเอ็นอาร์ของผู้ป่วย ที่ได้รับยาวาร์ฟาริน โรงพยาบาลหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด

ผู้แต่ง

  • กิตติศักดิ์ พนมพงศ์ โรงพยาบาลหนองพอก
  • พัชริยา โทนหงษา โรงพยาบาลหนองพอก

คำสำคัญ:

การทำนายขนาดยาวาร์ฟาริน, ระดับไอเอ็นอาร์ (International Normalized Ratio; INR )

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ : เพื่อหาปัจจัยทำนายขนาดยาวาร์ฟารินและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับ INR ของผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟารินโรงพยาบาลหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด

รูปแบบการวิจัย : การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบตัดขวาง (Cross sectional analytical research)

วัสดุและวิธีการวิจัย : กลุ่มเป้าหมาย ศึกษากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟารินที่โรงพยาบาลหนองพอกทุกราย ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 - 1 กรกฎาคม 2561 จำนวน 58 ราย ตามเกณฑ์คัดเข้าโดยขึ้นทะเบียนการรักษาอย่างน้อย 3 เดือน และได้รับการติดตามค่า INR อย่างน้อย 1 ครั้ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1) แบบสอบถาม ข้อมูลทั่วไปด้านอายุ เพศ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา น้ำหนัก ส่วนสูง ข้อบ่งชี้การใช้ยาและโรคร่วม 2) แบบสอบถามข้อมูลด้านพฤติกรรมส่วนบุคคลและทางสังคม การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การใช้สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งเกิดปฏิกิริยากับวาร์ฟารินและความร่วมมือในการรับประทานยา 3) แบบประเมินข้อมูลค่า INR และการใช้ยาวาร์ฟาริน เก็บรวบรวมข้อมูลจากโปรแกรมบันทึกการเข้ารับบริการ HOSxP สมุดบันทึกประจำตัวผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟารินในช่วงเวลาที่กำหนด สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ สถิติเชิงพรรณนา Multiple linear regression และ Chi – square test

ผลการวิจัย : พบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายและหญิงในสัดส่วนที่เท่ากัน (50%) อายุเฉลี่ย 59 ปี สถานภาพสมรสคู่ (91.4%) จบการศึกษาระดับประถมศึกษา (67.2%) เหตุผล ความจำเป็นในการใช้ยาวาร์ฟารินเพื่อรักษาโรคลิ้นหัวใจผิดปกติ (Valvular heart disease) (36.2%) หัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ (Atrial Fibrillation) (29.3%) ใส่ลิ้นหัวใจเทียม (17.2%) และ    ผู้ป่วยที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (12.1%) และมีภาวะโรคอื่นร่วมด้วย (51.7%) จากการติดตามผู้ป่วยจำนวนทั้งหมด 328 ครั้ง แยกเป็น 2 กลุ่ม ตามระดับค่า INR โดยกลุ่มที่ 1 (INR  2.0 – 3.0) และกลุ่มที่ 2 (INR 2.5-3.5) ผลการวิเคราะห์พบว่าขนาดยาวาร์ฟารินที่ทำให้ได้รับ INR อยู่ในเป้าหมายการรักษากลุ่มที่ 1 เหมาะสม คือ 2.99 ± 1.21 มิลลิกรัมต่อวัน จากการติดตาม 145 ครั้ง และกลุ่มที่ 2 คือ 3.86 ± 1.51 มิลลิกรัมต่อวัน จากการติดตาม 39 ครั้ง การประมาณขนาดวาร์ฟารินสามารถพิจารณาจาก อายุ น้ำหนักและส่วนสูงของผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 และอายุกับความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 เป็นปัจจัยที่ใช้ทำนายขนาดยาวาร์ฟารินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการติดตาม 252 และ 76 ครั้ง ตามลำดับ ดังสมการ

กลุ่มที่ 1 สมการมาตรฐาน Dose = 0.297 (น้ำหนัก) + 0.180 (ส่วนสูง) – 0.405 (อายุ)

กลุ่มที่ 2 สมการมาตรฐาน Dose = - 0.608 (อายุ) - 0210 (ความร่วมมือในการใช้ยา)   สำหรับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับ INR ให้อยู่ในช่วงเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความร่วมมือในการใช้ยา โดยผู้ป่วยที่มีความร่วมมือในการใช้ยาดีจะมีระดับ INR อยู่ในช่วงเป้าหมาย ร้อยละ 59.5 ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่มีความร่วมมือในการใช้ยาจะมีระดับ INR อยู่ในช่วงเป้าหมายเพียงร้อยละ 18.5

สรุปและข้อเสนอแนะ : ผลการวิจัยเชิงวิเคราะห์ครั้งนี้พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับ INR   คือ ความร่วมมือในการใช้ยา สำหรับผู้ป่วยที่เริ่มใช้ยาวาร์ฟารินสามารถนำสมการทำนายขนาดยาวาร์ฟาริน ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการคำนวณหาขนาดยา โดยในการคำนวณขนาดยาให้กับผู้ป่วย แพทย์ควรคำนึงถึงปัจจัยด้านอายุ น้ำหนัก ส่วนสูง และความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วย รวมถึงเภสัชกร พยาบาล และสหวิชาชีพอื่น ๆ ที่ให้การดูแลผู้ป่วยควรให้การบริบาลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ร่วมกันประเมินการรักษา จะเป็นประโยชน์ในการทำให้ผู้ป่วยมีระดับ INR เข้าสู่ช่วงเป้าหมายได้มากขึ้นและมีความปลอดภัยในการใช้ยาวาร์ฟารินซึ่งเป็นยาที่มีช่วงการรักษาค่อนข้างแคบ

References

สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และชมรมเภสัชกรโรงพยาบาล. แนวทางปฏิบัติที่ดี เรื่อง การบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟาริน พ.ศ. 2551. นนทบุรี: กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และชมรมเภสัชกรโรงพยาบาล; 2551.

สุภารัตน์ วัฒนสมบัติ. ยาต้านการแข็งตัวของเลือด Warfarin (Anticoagulant: Warfarin). วารสารไทยไภษัชยนิพนธ์. 2553;5:87-98.

Hirst J, Fuster V, Ansell J, Halperin JL. American heart association/American College of Cardiology Foundation guide to warfarin therapy. Circulation 2003;107(12):1692-711.

สุกัลยา ธรรมวันตา, รุ่งทิวา หมื่นปา. ขนาดยาวาร์ฟารินที่เหมาะสม ปัจจัยที่ใช้ในการทำนายขนาดยาและปัจจัยที่ส่งผลให้ไม่ได้ INR ตามเป้าหมาย. วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล 2553; 20(3): 199-209.

จิรภา ศิริทัตธำรง, ภัทราพร อัศววงศ์พรหม. การประเมินสูตรการคำนวณขนาดยา Warfarin โดยอาศัยลักษณะยีน cytochrome 2C9 และ vitamin-K epoxide reductase complex-1 polymorphism.กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหิดล; 2551.

เพชรน้อย สิงห์ช่างชัย. การวิจัยทางการพยาบาล. สงขลา: สำนักพิมพ์อัลลายด์ เพรส; 2535

สุอาภา พลอยเลื่อมแสง. การหาขนาดยาวาร์ฟารินที่เหมาะสมในผู้ป่วยนอกผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมที่โรงพยาบาลราชวิถี [วิทยานิพนธ์]. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2541.

Kuanprasert S, Dettrairat S, Palacajornsuk P,Kunachiwa W, Phrommintikul A.Prevalence of CYP2C9 and VKORC1Mutation in Patients with Valvular Heart Disease in Northern Thailand. J Med Assoc Thai 2009;92:1597-601

Scone EA, Khan TI, Wynne HA, et al. The impact of CYP2C9 and VKORC1 genetic polymorphism and patient characteristics upon warfarin dose requirements; proposal for a new dosing regimen. Blood 2005;106: 2329-33.

วันวิภา เทพารักษ์. การบริบาลเภสัชกรรมในหอผู้ป่วยนอกที่มีการควบคุมการรักษาของยาวาร์ฟารินไม่คงที่ ณ โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ [วิทยานิพนธ์]. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่; 2550.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-09-30