ความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมียาเหลือใช้ของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ในศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

ผู้แต่ง

  • ทรัพย์พานิช พลาบัญช์ ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

คำสำคัญ:

ยาเหลือใช้, การป่วยด้วยโรคเรื้อรัง

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษายาเหลือใช้และความสัมพันธ์ของปัจจัยพื้นฐานกับการมียาเหลือใช้ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

รูปแบบการวิจัย : การวิจัยภาคตัดขวาง (Cross-sectional analytical study)

วัสดุและวิธีการวิจัย : กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มารับบริการ จำนวน 367 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์และติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเรื้อรังเพื่อสืบค้นปัญหาและสาเหตุของการมียาเหลือใช้ และจากเวชระเบียน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน 2564 และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความถี่ ร้อยละ Chi-square  test และ Multiple logistic Regression

ผลการวิจัย : กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 367 คน มีรายการยาที่ได้รับ เฉลี่ย 5 รายการ (SD = 2.26) น้อยที่สุด 1 รายการ และมากที่สุด 13 รายการ ส่วนใหญ่ไม่มียาเหลือใช้ 286 คน (77.93%) และมียาเหลือใช้ 81 คน (22.07%) รายการยาที่เหลือเฉลี่ย 2.52 รายการ (SD = 0.17) มียาเหลือน้อยที่สุด 1 รายการ     มากที่สุด 8 รายการ ยาที่เหลือมากที่สุด ได้แก่ Metformin 500 mg 3,630 เม็ด มูลค่า 3,630 บาท รองลงมาได้แก่  Amlodipine 5 mg 1,399 เม็ด มูลค่า 2,098.50 บาท Simvastatin 20 mg 900 เม็ด มูลค่า 1,800 บาท และ Vitamin B1-6-12 1,450 เม็ด มูลค่า 1,450 บาท ตามลำดับ และปัจจัยด้านเหตุผลของการมียาเหลือใช้การเกิดอาการข้างเคียง และการสั่งยาเกินเผื่อวันนัด มีความสัมพันธ์กับยาเหลือใช้ (p<.001)  

สรุปและข้อเสนอแนะ : การวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าควรมีการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มียาเหลือใช้ทุกราย เพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงและวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการรักษามากขึ้น ส่งผลให้ควบคุมอาการของโรคได้  มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถลดต้นทุนด้านยาลงได้ อย่างมีประสิทธิภาพ

References

อุไรวรรณ ชัยชนะวิโรจน์, นิรนาท วิทยโชคกิติคุณ. พฤติกรรมการใช้ยาในผู้สูงอายุไทย[อินเทอร์เน็ต]. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.); 2557 [เข้าถึงเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/4305

วิภาดา ปุณณภาไพศาล, ภัทรินทร์ กิตติบุญญาคุณ, กฤษณี สระมุณี. การออกแบบระบบการจัดการ ยาเหลือใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยการวิเคราะห์หาสาเหตุราก. วารสารเภสัชกรรมไทย. 2561; 10(2):300-14.

จิตชนก ลี้ทวีสุข, พชร เมฆี, พรทิพย์พา ถวี, พิชญ์สินี ญาณะ, พิธาน จินดาวัฒนวงศ์, ลลิต์ภัทร ถิรธันยบูรณ์และคนอื่นๆ. พฤติกรรมการใช้ยาของผู้ป่วยสูงอายุโรคเรื้อรัง ในชุมชนเชียงทอง ตำบลระแหง อำเภอเมือง จังหวัดตาก [วิทยานิพนธ์]. พิษณุโลก: มหาวิทยาลัยนเรศวร; 2556.

ช่อทิพย์ จันทรา, จินดา ม่วงแก่น. การศึกษาสาเหตุการนำยาเหลือใช้มาคืนของผู้ป่วยสูงอายุโรคเรื้อรังที่มารับบริการ ณ ศูนย์สุขภาพชุมชนร่วมใจ อำเภอวังทอง . ใน: การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติ และนานาชาติครั้งที่ 11; 17 กรกฎาคม 2563; ณ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่. สงขลา; 2563. หน้า 1957-67.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-09-30