ผลของรูปแบบการพัฒนาสถานประกอบการปลาร้าและปลาส้มปลอดพยาธิใบไม้ตับ โดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในพื้นที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • กิตติพิชญ์ จันที สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
  • สุวิศิษฐ์ ช่างทอง ศูนย์อนามัยที่ 7
  • ศุภลักษณ์ พริ้งเพราะ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น
  • เกษร แถวโนนงิ้ว สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น

คำสำคัญ:

ปลาร้าและปลาส้มปลอดพยาธิใบไม้ตับ, สถานประกอบการปลาร้าและปลาส้ม

บทคัดย่อ

        การศึกษาเชิงปฏิบัติการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการพัฒนารูปแบบสถานประกอบการปลาร้าและปลาส้มปลอดพยาธิใบไม้ตับโดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ในพื้นที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น  กลุ่มเป้าหมายการศึกษา คือ เจ้าของและพนักงานของสถานประกอบการผลิตปลาร้าและปลาส้ม 5 แห่ง รวม 22 คน และหน่วยงานที่ส่งเสริมสนับสนุนในพื้นที่ประกอบด้วยองค์กรปกครองท้องถิ่น เกษตรอำเภอ พัฒนาชุมชนอำเภอ โรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอ ผู้แทนแกนนำชุมชน และผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุข รวม 38 คน  ดำเนินการศึกษาเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัญหา ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบ และระยะที่ 3 การติดตามประเมินผล ช่วงการศึกษาระหว่างเดือนพฤษภาคม 2563 - สิงหาคม 2564 เครื่องมือการวิจัยได้แก่ แบบสำรวจสถานประกอบการปลาร้าและปลาส้ม แบบสัมภาษณ์ แบบประเมินความพึงพอใจ แนวทางการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม แบบประเมินสุขาภิบาล และแบบประเมินความรอบรู้ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงพรรณนา และข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content analysis)

        ผลการศึกษา พบว่า สภาพปัญหาของผลิตภัณฑ์ปลาร้าและปลาส้มไม่ปลอดพยาธิ สถานประกอบการปลาร้าและปลาส้มไม่ผ่านเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารตามหลักสุขาภิบาล ผู้ประกอบการปลาร้าและปลาส้มมีความรอบรู้ด้านสุขภาพการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีไม่ถูกต้อง รูปแบบการพัฒนาสถานประกอบการ ได้แก่ 1) การเฝ้าระวังพยาธิใบไม้ตับโดยการเก็บปลาร้าและปลาส้มส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับ 2) การควบคุมป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ สถานที่ผลิตตามมาตรฐานสุขาภิบาลพร้อมติดฉลากปรุงสุกกำกับผลิตภัณฑ์ปลาร้าและปลาส้ม และ 3) การมีเครือข่ายร่วมดำเนินการปลาร้าและปลาส้มปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่ ผลลัพธ์หลังการดำเนินงานตามรูปแบบ พบว่า 1) การสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ปลาร้า และปลาส้มไม่พบความเสี่ยงการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ 2) ทุกผลิตภัณฑ์ปลาร้าและปลาส้มมีติดฉลาก“ปรุงสุกปลอดพยาธิ” 3) สถานประกอบการปลาร้าและปลาส้มผ่านเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารตามหลักสุขาภิบาล 4) ผู้ประกอบการปลาร้าและปลาส้มมีความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อการป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเพิ่มขึ้น  5) ผลักดันให้ท้องถิ่นได้ข้อบัญญัติควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทการผลิต สะสม หรือแบ่งบรรจุอาหารหมักดองจากสัตว์ ได้แก่ ปลาร้า ปลาส้ม ปลาจ่อม หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่คล้ายคลึงกัน พ.ศ. 2563 

        จากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่า รูปแบบดังกล่าวสามารถยกระดับให้ผู้ประกอบการปลาร้าและปลาส้มให้ปลอดพยาธิใบไม้ตับด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานท้องถิ่นในการสนับสนุนการดำเนินงาน โดยมองเป้าหมายพร้อมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่เป้าหมายความสำเร็จร่วมกัน 

References

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2558-2568. นนทบุรี: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์กรทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์; 2559.

Shin HR, Oh JK, Masuyer E, Curado MP, Bouvard V, Fang Y, et al. Comparison of incidence of intrahepatic and extra hepatic cholangiocarcinoma-focus on East and South-Eastern Asia. Asian Pac J Cancer Prev 2010; 11(5): 1159 - 66.

สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการปฏิบัติงาน โครงการควบคุมโรคหนอนพยาธิ ในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. กรุงเทพฯ: พุมทอง; 2561.

Sadun EH. Studies on Opisthorchis viverrini in Thailand. Am J Hyg 1955; 62(2): 81–115.

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แผนงานป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี (โครงการรณรงค์กำจัดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ถวายเป็นพระราชกุศลฯ). ใน: ธนรักษ์ ผลิพัฒน์, บรรณาธิการ. แนวทางการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพสำหรับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ 2564 ภายใต้แผนพัฒนาด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพของประเทศ ระยะ 20 ปี พ.ศ.2561-2580. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์; 2561. หน้า 51-76.

ญาธิปวีร์ ปักแก้ว. ปกิณกะ ปลาร้า:ความเป็นมา และวัฒนธรรมการกิน “ปลาส้ม” ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านไทยยอดนิยม. วารสารวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (Food journal) 2562; 49(2): 37 - 41.

Carr W, Kemmis S. Becoming Critical: Education, knowledge and action research. Lewes, Sussex: Fa1met; 1986.

ทิพย์กมล ภูมิพันธ์, อุไรวรรณ อินทร์ม่วง. สุขลักษณะของการประกอบกิจการผลิตปลาร้าและปลาส้มในอำเภอหนึ่งจังหวัดขอนแก่น. วารสารมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2559; 16(2): 75 - 85.

สมคิด เลิศไพฑูรย์. หน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามระบบกฎหมายไทย. กรุงเทพฯ: เดือนตุลา; 2565.

สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ. ปรับการกิน ป้องกันพยาธิใบไม้ตับ [อินเทอร์เน็ต]. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 20 มีนาคม 2563] เข้าถึงได้จาก: https://www.thaihealth.or.th/?p=257955

วิลาวัณย์ ภูมิดอนมิ่ง, ดุลยทรรศน์ กรฑ์แสง, คำพล แสงแก้ว, นันทพร ธรรมะตระกูล, ภานุมาศ โคตะนนท์. การส่งเสริมการบริโภคอาหารพื้นบ้านปลอดพยาธิใบไม้ตับ เพื่อลดอัตราการติดเชื้อและป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ตำบลโคกปรง จังหวัดเพชรบูรณ์. วารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ 2563; 12(1): 22 – 40.

สรญา แก้วพิทูลย์, ณัฏฐวุฒิ แก้วพิทูลย์. รายงานการวิจัยเพื่อพัฒนาปลาร้า-ปลาส้มปลอดพยาธิใบไม้ตับ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งท่อน้ำดี. (รายงานการวิจัย). นครราชสีมา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี; 2559.

Onsurathum S, Pinlaor P, Haonon O, Chaidee A, Charoensuk L, Intuyod K, et al. Effects of fermentation time and low temperature during the production process of Thai pickled fish (pla-som) on the viability and infectivity of Opisthorchis viverrini metacercariae. Int J Food Microbiol 2016; 218: 1-5.

ฐิติมา วงศาโรจน์. กินปลาอย่างไร ไม่ให้ติดพยาธิใบไม้ตับ. จุลสารศูนย์ประสานงานพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี 2560; 2(7): 4 - 6.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-04-30