ประเมินมาตรฐานศูนย์เด็กเล็กปลอดโรคในเขตเทศบาลนคร และเทศบาลเมือง พื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 ปี พ.ศ. 2562

ผู้แต่ง

  • ประวีณา สัชชาพงษ์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
  • ดวงใจ ไทยวงษ์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
  • ศุจินันท์ ตรีเดช สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
  • ชลิดา อนุสุริยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น

คำสำคัญ:

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, มาตรฐานศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค

บทคัดย่อ

การประเมินศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามมาตรฐานศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค เป็นการประเมินตามแผนงานป้องกันควบคุมโรคติดต่อในเด็ก การศึกษานี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณาแบบตัดขวาง ( Cross-sectional Descriptive Research) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคติดต่อในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตามข้อกำหนดในการดำเนินงานศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค 4 ด้าน ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ ด้านบริหารจัดการ  ด้านบุคลากร   ด้านอาคารสถานที่สุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม  และด้านวัสดุอุปกรณ์ ทั้งหมด 35 ข้อ  ผ่านเกณฑ์ คะแนนรวมตั้งแต่ 28 คะแนน(ร้อยละ 80)ขึ้นไป กลุ่มตัวอย่างคือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดเทศบาลนครและ เทศบาลเมืองในเขตสุขภาพที่ 7 ทุกแห่งรวม 25 แห่ง  เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์  สังเกต ของคณะผู้วิจัย  ตามแบบประเมินศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค เก็บข้อมูลระหว่างเดือน ธันวาคม 2561- มิถุนายน 2562  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ และร้อยละ  

ผลการศึกษาพบว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กผลการประเมินผ่านเกณฑ์ จำนวน 13 แห่ง (ร้อยละ 52) ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 12 แห่ง (ร้อยละ 48 ) โดยมีช่องว่างที่ต้องพัฒนาสอดคล้องกันทั้ง 4 ด้าน คือ  1)ด้านบริหารจัดการ พบว่าไม่มีการประชุมคณะกรรมการ/คณะทำงานในเรื่อง การดูแลสุขภาพอนามัยและการพัฒนาสุขภาพของเด็ก (ร้อยละ 56) 2)ด้านบุคลากร พบว่า ไม่มีการบันทึกและติดตามการได้รับวัคซีนเด็กในความดูแลครบถ้วนตามเกณฑ์ (ร้อยละ 94) ไม่มีแบบบันทึกปัญหาสุขภาพและการดูแลเบื้องต้นของเด็ก (ร้อยละ 76) ครูผู้ดูแลเด็กไม่มีผลการตรวจสุขภาพประจำปี/ผลการตรวจภาพรังสีปอดครบทุกคน (ร้อยละ 68) ไม่มีตารางกิจกรรมให้ความรู้การป้องกันควบคุมโรค (ร้อยละ 60)  3) ด้านอาคารสถานที่สุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม พบว่าจำนวนโถส้วมถ่ายอุจจาระไม่ได้สัดส่วนต่อจำนวนเด็ก (ร้อยละ 52) และ 4) ด้านวัสดุอุปกรณ์ในการดูแลป้องกันควบคุมโรค พบว่า ไม่มีวัสดุอุปกรณ์ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น (ร้อยละ 28) เป็นต้น  

ข้อเสนอแนะ  เทศบาลเมืองและเทศบาลนคร ผู้บริหารควรมีนโยบาย การจัดการอย่างเป็นระบบและผู้ปฏิบัติมีความรู้และทักษะการนำไปใช้อย่างถูกต้องในเรื่องศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยกำหนดคุณสมบัติของครู ผู้ดูแลเด็ก ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีและมีผลการตรวจภาพรังสีปอดครบทุกคน / ควรมีนโยบายและสนับสนุนให้คณะกรรมการ/คณะทำงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีการประชุมอย่างสม่ำเสมอกำหนดให้เรื่อง การดูแลสุขภาพอนามัยและการพัฒนาสุขภาพของเด็กเป็นวาระประจำ ให้รายงานความก้าวหน้าผลการตรวจและการดูแลสุขภาพเบื้องต้น  ความครอบคลุมได้รับวัคซีนครบถ้วนตามเกณฑ์ การจัดกิจกรรมให้ความรู้ จัดสรรงบประมาณในการจัดหาโถส้วมและอ่างล้างมือให้ได้สัดส่วนตามมาตรฐาน  วัสดุอุปกรณ์ในการปฐมพยาบาลตลอดจนแบบฟอร์มต่างๆให้พร้อมและเอื้อต่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและดูแลสุขภาพเด็กเบื้องต้นให้เป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานการดำเนินงานศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค เพื่อให้เด็กได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย มีภูมิคุ้มกันต่อโรคและภัยสุขภาพ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

References

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย. กรุงเทพมหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย; 2556.

สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข. โปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด [ออนไลน์]. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 31 ตุลาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.boeeoc.moph.go.th

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการประเมินศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค. กรุงเทพมหานคร:ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย;2555.

กรมควบคุมโรค สำนักโรคติดต่อทั่วไป. มาตรฐานการดำเนินงานศูนย์เด็กปลอดโรค ฉบับที่ใช้ประเมินปีงบประมาณ2561.นนทบุรี: สำนักโรคติดต่อทั่วไป;2561.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย. กรุงเทพมหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย;2556.

พรชนก รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, สมนึก เลิศสุโภชวณิชย์, กรรณิการ์ เจริญไทย, ณัฐทิชา หงษ์สามสิบหก. ผลการค้นหาเกณฑ์ที่เป็นประเด็นเพื่อการพัฒนาการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคติดต่อในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลตามมาตรการของกรมควบคุมโรค พ.ศ.2561.

กาญจนวรรณ บัวจันทร์. ความสำเร็จในการดำเนินงานศูนย์เด็กเล็กปลอดโรคของศูนย์เด็กเล็กที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดปทุมธานี [ออนไลน์]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 18 กุมภาพันธุ์ 2562]. เข้าถึงได้จาก: http://www.aihd.mahidol.ac.th/ res/wp-content/files/ child/Review.pdf

อุษณีย์ เทพวรชัย, กัญญา ชื่นอารมณ์. ศึกษาการดำเนินงานการบริการของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เขตอำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี [ออนไลน์]. 2562 [เข้าถึงเมื่อ 18 กุมภาพันธุ์ 2562]. เข้าถึงได้จาก:https://www.tcithaijo.org/index.php/tnaph/ article/download/.../87504/

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-04-29