การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ในกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
คำสำคัญ:
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ, การมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน, กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานบทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการแบบกึ่งทดลองกลุ่มเดียววัด 3 ครั้ง โดยใช้กิจกรรมการเข้าค่ายเน้นแบบมีส่วนร่วมเป็นสิ่งทดลอง ร่วมกับการศึกษาเชิงคุณภาพในพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน เลือกพื้นที่ทำการวิจัยแบบเจาะจง คำนวณขนาดตัวอย่างได้ 93 คน จัดกิจกรรมการเข้าค่ายของกลุ่มเสี่ยงด้านความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคเบาหวาน การรับประทานอาหารถูกหลัก การออกกำลังกาย วิธีขจัดความเครียด การปรับอุณหภูมิอารมณ์ และการหาเครือข่ายเพื่อจัดตั้งชมรม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา นำเสนอในรูปร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนสถิติเชิงอนุมานใช้เปรียบเทียบความแตกต่างและความสัมพันธ์ของตัวแปรหลักด้วย Dependent t-test, Pearson’ s Correlation, Repeated measure ANOVA ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ
ผลการวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 73.1 มีประวัติเสี่ยงโดยมีญาติเป็นเบาหวานร้อยละ 43.0 และกลุ่มอายุที่มากที่สุด คือ 45-64 ปี ร้อยละ 60.2 สำหรับการเปรียบเทียบคะแนนความรู้โรคเบาหวานหลังเข้าค่ายเบาหวาน มีค่าสูงกว่าก่อนเข้าค่าย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) และความสัมพันธ์ของคะแนนก่อนเข้าค่ายกับอายุและดัชนีมวลกาย พบว่า ดัชนีมวลกายมีความสัมพันธ์ในทิศทางบวก ส่วนอายุมีทิศทางตรงข้าม ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ในส่วนของตัวแปรที่ศึกษาและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ จำแนกก่อนและหลังเข้าค่าย พบว่าค่าดัชนีมวลกาย ค่าการวัดรอบเอว ค่าคอเรสเตอรอล ค่าไตรกลีเซอร์ไรด์ ค่าน้ำตาลหลังอาหาร และค่าน้ำตาลก่อนอาหาร มีแนวโน้มลดลง โดยการวัดก่อนและหลังเข้าค่าย 3 เดือน 6 เดือน มีค่าเฉลี่ยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) ทุกตัวแปร และ เมื่อเปรียบเทียบรายคู่ความแตกต่างของตัวแปรข้างต้นทุกตัว จำแนกตามการวัด 3 ครั้ง ทุกคู่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ตามลำดับ โดยที่ตัวแปรทุกตัวมีแนวโน้มลดลง หรือมีความคงทนและยั่งยืน
สำหรับการเข้าค่ายมีประโยชน์มากทำให้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนตัวเองจากการปฏิบัติจริงขณะเข้าค่าย มีความต้องการให้เจ้าหน้าที่ออกติดตามเรื่อยๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นตัวเขาเองและชุมชนอย่างสม่ำเสมอ ในส่วนของพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน พบว่า ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ประเภทอาหารจะเป็นอาหารพื้นบ้านที่ทำมาจากปลา ด้านการทำงาน และกิจกรรมประจำวัน มีอาชีพทำนา และกิจกรรมภายในบ้าน ด้านความเชื่อความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน มีความเชื่อว่าสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานเกิดจากการกิน กรรมพันธุ์ ไม่ออกกำลังกาย ด้านความเครียด มีความวิตกกังวลกลัวตนเองเป็นโรคเบาหวาน และการพักผ่อน มีการนอนหลับพักผ่อนที่ดี ข้อเสนอแนะควรทำการวัดดัชนีชี้วัดที่เสี่ยงต่อโรคเบาหวานซ้ำเพื่อเป็นการวัดความคงทนหรือยั่งยืน ซึ่งจะทำให้กระตุ้นการมีส่วนร่วม และการเสริมสร้างความเข้าใจ ความตระหนัก เจตคติ ที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันโรคเบาหวานอย่างยั่งยืนได้ต่อไป
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
ความรับผิดชอบ
บทความที่ลงพิมพ์ในวารสารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น ถือเป็นผลงานทางวิชาการหรือวิจัย และวิเคราะห์ตลอดจนเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ความเห็นของวารสารสำนักงาน ป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น หรือ ของกองบรรณาธิการแต่ประการใด ผู้เขียนต้องรับผิดชอบต่อบทความของตนเอง
ลิขสิทธ์บทความ
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์จะถือเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานป้องกันตวบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น