ความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมองค์การในยุคโลกาภิวัตน์ตามการรับรู้ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กับการปฏิบัติงานตามคุณลักษณะขององค์การแห่งการเรียนรู้ ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดสกลนคร

ผู้แต่ง

  • ธาดา ศูนย์จันทร์ Pannanikhom Distric Health Office
  • วิทัศน์ จันทรโพธิ์ศรี Faculty of Public Health, Khon Kaen University

คำสำคัญ:

วัฒนธรรมองค์การ, องค์การแห่งการเรียนรู้, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมองค์การในยุค
โลกาภิวัตน์ตามการรับรู้ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับการปฏิบัติงานตามคุณลักษณะขององค์การแห่งการเรียนรู้ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดสกลนคร   กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา คือ  เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดสกลนคร  จำนวน 80  คน  โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเป็นระบบ  เก็บข้อมูลระหว่างวันที่  29 กุมภาพันธ์ - 23  มีนาคม  พ.ศ.  2555  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ  ร้อยละ  ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน

            ผลการศึกษาพบว่า  กลุ่มตัวอย่างมีระดับการปฏิบัติงานตามคุณลักษณะขององค์การแห่งการเรียนรู้ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = 4.16, S.D. =  0.50, 95% CI = 4.06 ถึง 4.26) และพบว่าระดับวัฒนธรรมองค์การในยุคโลกาภิวัตน์ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก  ( =  4.05, S.D. = 0.62, 95% CI =  3.93 ถึง 4.18) เช่นกันและพบว่าวัฒนธรรมองค์การในยุคโลกาภิวัตน์มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติงานตามคุณลักษณะขององค์การแห่งการเรียนรู้ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดสกลนครอยู่ในระดับปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ        (r = 0.636, 95% CI = 0.485 ถึง 0.751, P-value < 0.001)   โดยวัฒนธรรมองค์การในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความสัมพันธ์และสามารถร่วมกันพยากรณ์การปฏิบัติงานตามคุณลักษณะขององค์การแห่งการเรียนรู้ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดสกลนคร  ได้แก่  วัฒนธรรมองค์การมุ่งเน้นบริการ (B = 0.97, 95% CI = 0.146 ถึง 1.933, P-value = 0.047)  และ วัฒนธรรมองค์การมุ่งเน้นคุณภาพ (B = 0.83, 95% CI = 0.182 ถึง 1.479, P-value = 0.013) โดยทั้ง 2 ปัจจัยสามารถร่วมกันพยากรณ์การปฏิบัติงานตามคุณลักษณะขององค์การแห่งการเรียนรู้ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดสกลนครได้ร้อยละ 32.11 (Adjusted R2 = 0.3211) 

            ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัยครั้งนี้ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลควรเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์การที่สามารถพยากรณ์พฤติกรรมการปฏิบัติตามคุณลักษณะขององค์การแห่งการเรียนรู้  กล่าวคือ วัฒนธรรมองค์การมุ่งเน้นบริการ  ได้แก่  รูปแบบการประพฤติตัวเกี่ยวกับ 1) จิตสำนึกที่ดีในการบริการ  2) การบริการตามคุณภาพมาตรฐานงานที่กำหนดไว้อย่างถูกต้อง เหมาะสม  และ 3) การพยายามปรับปรุงวิธีการทำงานหรือการให้บริการให้ดีขึ้นอยู่เสมอควบคู่ไปกับการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์การมุ่งเน้นคุณภาพ  ได้แก่  รูปแบบการประพฤติตัวเกี่ยวกับ  1) กลุ่มคุณภาพงาน   2) การบริหารโดยมุ่งวัตถุประสงค์   และ 3) บริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์การ

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-13