ประสิทธิผลโปรแกรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อความรู้และพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ ตำบลหนองบัวโคก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ

ผู้แต่ง

  • ศรีไพร ปอสิงห์ Chaloem Phra Kiat 60 Phansa Nawa Min Thra Chi Ni Public Health center, Nongbuakhok Chaiyaphum Province
  • อนงค์ หาญสกุล Srinakharinwirot University

คำสำคัญ:

ระดับความรู้, ระดับการปฏิบัติตัว, การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม, โปรแกรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม, การดูแลสุขภาพตนเอง, ผู้สูงอายุ

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปรียบเทียบระดับความรู้และ    การปฏิบัติตัวในการมีส่วนร่วมต่อการดูแลสุขภาพตนเองก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรมของผู้สูงอายุ  กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปในตำบลหนองบัวโคก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ จำนวน      45 คน  ดำเนินการเก็บข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น  ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ แบบสัมภาษณ์ในด้านความรู้ต่อการส่งเสริมสุขภาพตนเอง   ของผู้สูงอายุ  หาค่าความเที่ยงโดยใช้สูตร KR–20 ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.77 และหาค่าความเที่ยงโดยหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคซ์  ในแบบสัมภาษณ์หมวดด้านการปฏิบัติตัวต่อการส่งเสริมสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุ ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.81  วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป  นำเสนอด้วยค่าสถิติได้แก่  ร้อยละ ค่าเฉลี่ย  ค่ามัธยฐาน  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุด ต่ำสุด  และ Paired  t-test  กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา

                 ผลการศึกษาพบว่า  การใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการดูแลส่งเสริมสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุ ตามโปรแกรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพทั้ง 5 ด้านได้แก่ 1. การให้คำปรึกษา    ด้านสุขภาพจิต  2. การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก 3. การส่งเสริมการออกกำลังกาย  4. การดูแลสุขภาพทั่วไป  และ 5. ด้านอาหารและโภชนาการ  พบว่าผู้สูงอายุมีระดับความรู้ในการมีส่วนร่วมต่อการดูแลส่งเสริมสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุอยู่ในระดับสูง  โดยภาพรวมก่อนการเข้าร่วมโปรแกรมมีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 21.24 (S.D.=1.57) หลังการเข้าร่วมโปรแกรมมีค่าคะแนนเฉลี่ยของความรู้เพิ่มขึ้นเป็น 25.11 (S.D.=2.82) และผลการเปรียบเทียบคะแนนความรู้ก่อนและหลังการเข้าร่วมโปรแกรมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (t=11.73 , p<0.001) ส่วนระดับการปฏิบัติตัวในการดูแลส่งเสริมสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุพบว่าอยู่ในระดับสูงขึ้น  โดยภาพรวมก่อนการเข้าร่วมโปรแกรมมีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 36.67 (S.D.=6.02)  แต่หลังการเข้าร่วมโปรแกรมค่าคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 42.93 (S.D.=3.75) และผู้สูงอายุมีการปฏิบัติตัวที่ดีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=13.22, p<0.001)  

                 ผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่าระดับความรู้และการปฏิบัติตัวในการดูแลส่งเสริมสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุสามารถใช้การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเป็นแนวทางในการเพิ่มระดับการส่งเสริมสุขภาพตนเองในผู้สูงอายุได้  และยังพบว่าการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อการดูแลส่งเสริมสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุในครั้งนี้  ทำให้ได้รูปแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุตามบริบทของพื้นที่ ตามความต้องการของผู้สูงอายุที่สามารถปรับรูปแบบการรับบริการ  ทางด้านสุขภาพภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งผู้สูงอายุเองที่มีบทบาทที่สำคัญในการดำเนินกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพได้ด้วยตนเอง 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-13