การพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมงานสร้างเสริมสุขภาพสำหรับนักเรียน ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

ผู้แต่ง

  • ณัฐปคัลภ์ สันวิจิตร BanThaen Hospital, Chaiyaphum Province
  • โกวิท วัชรินทรางกูร Faculty of Education, Buriram Rajabhat University
  • กระพัน ศรีงาน Faculty of Education, Buriram Rajabhat University

คำสำคัญ:

รูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม, งานสร้างเสริมสุขภาพสำหรับนักเรียน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพการณ์การบริหารแบบมีส่วนร่วมงานสร้างเสริมสุขภาพสำหรับนักเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) พัฒนารูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมงานสร้างเสริมสุขภาพสำหรับนักเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 3) ประเมินรูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมงานสร้างเสริมสุขภาพสำหรับนักเรียน ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เก็บรวบรวมข้อมูลโดย การสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์เชิงลึก กับกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย ครู ผู้ปกครอง แกนนำนักเรียน ผู้นำชุมชน แกนนำศาสนา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และพยาบาลวิชาชีพ รวมทั้งสิ้น 74 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัยได้ผล ดังนี้

  1. สภาพการณ์การบริหารแบบมีส่วนร่วมงานสร้างเสริมสุขภาพสำหรับนักเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของครอบครัวยังดำเนินการไม่ครอบคลุม ผู้ปกครองไม่มีเวลา ขาดการประสานงานระหว่างโรงเรียนกับหน่วยงานราชการ และหน่วยงานอื่น ขาดครูที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ครูมีภาระงานที่นอกเหนือจากภาระงานสอน และขาดสิ่งสนับสนุนด้านงบประมาณ บุคลากร และขาดขวัญกำลังใจ
  2. การพัฒนารูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมงานสร้างเสริมสุขภาพสำหรับนักเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย การสร้างความร่วมมือของครอบครัว องค์กรดูแลนักเรียนมีการจัดโครงสร้างในการสร้างเสริมสุขภาพในงานบริหารวิชาการ มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนโครงการ การจัดองค์กร การนิเทศติดตาม และการประเมินผล ภายใต้การเชื่อมโยงประสานงานกับภาคีเครือข่าย นำไปสู่การดำเนินงานการพัฒนารูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมงานสร้างเสริมสุขภาพสำหรับนักเรียน ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ ดังนี้ คือ การกำหนดนโยบายโรงเรียน การมีส่วนร่วมและเครือข่ายการเรียนรู้ การสร้างแกนนำนักเรียน การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ การพัฒนาทักษะส่วนบุคคลด้านสุขภาพ การบริการสุขภาพ การเสริมสร้างกิจกรรมชุมชนให้เข้มแข็ง และการกำกับติดตามและประเมินผล
  3. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมงานสร้างเสริมสุขภาพสำหรับนักเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า การประเมินรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมงานสร้างเสริมสุขภาพสำหรับนักเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้ง 8 องค์ประกอบที่พัฒนาขึ้นมีความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ และเหมาะสม โดยมีการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการสร้างความรู้ความเข้าใจกับคณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง และสมาชิกในชุมชน ส่งผลให้เกิดการดูแลสุขภาพ และลดพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียน ครู ผู้ปกครองและสมาชิกในชุมชน

ผลการวิจัยในครั้งนี้เสนอแนะว่า ควรมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและประสานงานจากทุกภาคส่วนภาคีเครือข่าย ให้เกิดความตระหนักเห็นความสำคัญ คุณค่า ประโยชน์ และเกิดการดำเนินการที่ต่อเนื่อง พร้อมทั้งควรมีการประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา และชุมชน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-13