คุณลักษณะผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ในพื้นที่รับผิดชอบสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น ปี พ.ศ. 2551-2555

ผู้แต่ง

  • ปิยธิดา ภูตาไชย The Office of Disease Prevention and Control 6 KhonKaen

คำสำคัญ:

ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, ผู้ป่วยเอดส์, NAP Program

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาคุณลักษณะของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์  ในพื้นที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น  ปี พ.ศ. 2551-2555

          วิธีการศึกษา  เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ระหว่างปี พ.ศ.2551-2555 โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary data) ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ จากโปรแกรมการบริหารจัดการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ (NAP) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) วิธีการรวบรวมข้อมูล ทำโดยดึงข้อมูลของตัวแปรที่ต้องการจากอิเลคทรอนิกส์ไฟล์ของฐานข้อมูลโปรแกรม มาจัดเก็บเป็นแฟ้มข้อมูล กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่เข้ารับการรักษาในโครงการ NAP ในพื้นที่รับผิดชอบสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วย 9 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด หนองคาย หนองบัวลำภู เลย อุดรธานี และบึงกาฬ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม  Epi Info Version 3.5.4 ใช้สถิติเชิงพรรณนา นำเสนอด้วยค่าจำนวน และอัตราต่อประชากรแสนคน

          ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนทั้งสิ้น 21,460 ราย เป็นเพศชาย ร้อยละ 55.70(95%CI=55.03-56.37) ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยผู้ใหญ่ ร้อยละ 97.21(95%CI=96.98-97.43) อยู่ในกลุ่มอายุ 31-45 ปี ร้อยละ 54.60 (95%CI=53.96-55.29) อายุเฉลี่ย 34.76 ปี มีอัตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์สูงที่สุดในปี พ.ศ. 2551 เท่ากับ 64.62 ต่อประชากรแสนคน กลุ่มอายุที่มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีระยะไม่มีอาการ ระยะมีอาการและระยะเอดส์เต็มขั้น มากที่สุดคือ 30–34 ปี อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ มากที่สุดในปี พ.ศ.2555 ร้อยละ 5.89 สถานภาพผู้ติดเชื้อสมรสมากที่สุด ร้อยละ 56.60(95%CI=55.87-57.33)  นอกจากนั้นยังพบว่าส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อยังไม่เคยรับยาต้านไวรัสมาก่อน ร้อยละ 95.32(95%CI=95.03-95.60) มีระยะการติดเชื้อไม่มีอาการมากที่สุด ร้อยละ 51.34 (95%CI=50.67-52.01) และไม่เคยเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ร้อยละ 80.34(95%CI=79.80-80.87)

          สรุปและเสนอแนะ  จากผลการศึกษา พบว่าอัตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ของพื้นที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น ลดลงจากปี พ.ศ.2551 ถึงปี พ.ศ.2554 อย่างต่อเนื่อง แล้วเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2555 เล็กน้อย และพบว่าอัตราป่วยตายมีการเพิ่มขึ้นและลดลงในปี พ.ศ.2553 และเพิ่มขึ้นอีกจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2555 กลุ่มอายุที่พบการติดเชื้อมากที่สุดคือกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งส่วนหนึ่งเคยรับยาต้านไวรัสและเคยเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส จากผลการศึกษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการติดเชื้อรายใหม่และการป่วยตายที่อาจจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จึงควรมีมาตรการและแนวทางการส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-02