ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นจังหวัดเลย

ผู้แต่ง

  • รณรงค์ ศรีพล Phakhao Hospital

คำสำคัญ:

พฤติกรรม, เพศสัมพันธ์, วัยรุ่น, ปัจจัย

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น ที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่มีความแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างเป็นวัยรุ่นอายุระหว่าง 14-19 ปี จำนวนรวมทั้งสิ้น 749 คน จากสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่เข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วมโครงการจัดกระบวนการเรียนการสอนเพศศึกษา และสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) เช่น ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน(Inferential Statistics) ที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐานได้แก่ One-way ANOVA และ Chi-squaretest กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ผลการศึกษาพบว่าลักษณะสถานศึกษา (สถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่เข้าโครงการ และที่ไม่ได้เข้าโครงการจัดกระบวนการเรียนการสอนเพศศึกษารอบด้าน และสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา)มีความสัมพันธ์กับ ประสบการณ์การใช้สารเสพติดประเภทเหล้า เบียร์ ไวน์ ประสบการณ์การมีเพศสัมพันธ์ พฤติกรรมการใช้สารเสพติด (สารมึนเมา และแอลกอฮอล์) เมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) โดยพบว่าวัยรุ่นที่อยู่ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา มีประสบการณ์ในการมีเพศสัมพันธ์สูงกว่ากลุ่มสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทั้งที่เข้าร่วมโครงการและไม่เข้าร่วมโครงการ แต่มีประสบการณ์ในการดื่มแอลกอฮอล์ต่ำกว่าสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ไม่ได้เข้าโครงการฯ และนักเรียนที่อยู่ในสถานศึกษาลักษณะต่างกัน มีระดับความรู้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) โดยพบว่านักเรียนที่อยู่ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ มีค่าเฉลี่ยคะแนนสูงกว่านักเรียนที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และโรงเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ดังนั้นการขยายผลโครงการจัดกระบวนการสอนเพศศึกษารอบด้านไปยังสถานศึกษาอื่นๆ อย่างครอบคลุม อาจเป็นแนวทางที่ดีและเหมาะสมในการดำเนินงานต่อไป และกิจกรรมหรือการส่งเสริมความรู้ต่างๆ ควรจะต้องมีข้อมูลที่เน้นทั้งการไม่มีเพศสัมพันธ์และการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยทั้งนี้กลุ่มวัยรุ่นที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ควรเน้นการชะลอหรือไม่มีเพศสัมพันธ์ส่วนกลุ่มที่เคยมีเพศสัมพันธ์ต้องเน้นทางเลือกต่างๆในการป้องกัน และการเข้าถึงการใช้วิธีการป้องกันต่างๆ ได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-27