การสร้างเสริมสุขภาพในสถานศึกษา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การสร้างเสริมสุขภาพในสถานศึกษามีความสำคัญมาก เพราะเด็กวัยเรียนและเยาวชนใช้เวลาอยู่ในสถานศึกษาถึง “หนึ่งในสาม” ของเวลาในแต่ละวัน ภาวะสุขภาพของเด็กวัยเรียนและเยาวชนจะเป็นพื้นฐานของภาวะสุขภาพตลอดชีวิตที่มีอยู่ ทั้งยังเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย จิตใจ / อารมณ์ สติปัญญา จิตวิญญาณ ในลักษณะเจริญเติบโตขึ้น สามารถพัฒนาตนเองให้มีความสมบูรณ์เต็มตามศักยภาพได้ แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนเข้าสู่สังคมดิจิทัล ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนเปลี่ยนไปอย่างมาก ประกอบกับสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น จึงต้องพัฒนาพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาให้ยั่งยืนจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ภาวะสุขภาพของเด็กและเยาวชนอยู่ในระดับสูงสุดตามศักยภาพ การสร้างเสริมสุขภาพในสถานศึกษาให้สัมฤทธิ์ผลจะต้องนำกลวิธีการสร้างเสริมสุขภาพตามกฎบัตรออตตาวามาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ 1) การสร้างนโยบายที่จะเป็น “สถานศึกษาสร้างเสริมสุขภาพ” 2) การสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ และสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง 3) การเสริมสร้างกิจกรรมชุมชนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคให้เข้มแข็ง เน้นการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการ / ปัญหาสุขภาพคล้ายคลึงกันในรูปของชมรม / กลุ่ม 4) การพัฒนาทักษะส่วนบุคคลที่จำเป็นเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคของนักเรียน / นักศึกษา ครู / อาจารย์ บุคลากร ผู้ปกครอง และผู้อาศัยในชุมชนรอบสถานศึกษา ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ด้วยกลวิธีที่หลากหลาย และ 5) การปรับเปลี่ยนระบบบริการสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค
Article Details
Journal of Safety and Health is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International (CC BY-NC-ND 4.0) licence, unless otherwise stated.