ผลของแนวทางการลดและป้องกันอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงานในโรงงานผลิตบ้านสำเร็จรูป

Main Article Content

เพรียวพรรณ สุขประเสริฐ
พรสวัสดิ์ ศรีสวัสดิ์
สราวุธ สุธรรมาสา

บทคัดย่อ

การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลและสภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงานโรงงานผลิตบ้านสำเร็จรูป (2) ศึกษาถึงประเด็นปัญหาและอุปสรรคของการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน (3) เปรียบเทียบพฤติกรรมด้านความปลอดภัยของพนักงานโรงงานผลิตบ้านสำเร็จรูป ก่อนและหลังทำกิจกรรมแนวทางการลดและป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน และ(4) หาแนวทางการลดอุบัติเหตุของโรงงานผลิตบ้านสำเร็จรูป และนำไปปรับใช้ในระบบการทำงานด้านความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ  ประชากรที่ศึกษาคือ พนักงานปฏิบัติงานในสายการผลิตโรงงานผลิตบ้านสำเร็จรูป จำนวนทั้งสิ้น 180 คน ใช้วิธีเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงโดยมีคุณสมบัติคล้ายกันทั้งด้านเพศ อายุ ระดับการศึกษา สถานภาพ และอายุการทำงาน จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองจำนวน 30 คน และกลุ่มควบคุมจำนวน 30 คน ทำการวิจัยเป็นระยะเวลา 2 เดือนเพื่อให้มีระยะเวลาสังเกตพฤติกรรมของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมในการปรับพฤติกรรมด้านความปลอดภัย โดยใช้เครื่องมือที่ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมด้านความปลอดภัย แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และแบบประเมินผลหลังทำกิจกรรม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบที ผลวิจัยพบว่า (1) กลุ่มตัวอย่างทุกคนเป็นเพศชาย มีอายุ 31-35 ปี ร้อยละ 33.3 ระดับการศึกษาอนุปริญญา ร้อยละ 95.5 สถานภาพสมรส ร้อยละ 56.7 มีอายุในการทำงาน 4 ปี ร้อยละ 38.3  (2) พบประเด็นปัญหาและอุปสรรคของการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพยังไม่ค่อยเหมาะสมต่อการทำงาน ร้อยละ 53.8    มีความเหมาะสมของตารางเวลาในการทำงาน ร้อยละ 84.6 มีความเหมาะสมของระยะเวลาพักระหว่างปฏิบัติงาน ร้อยละ 92.3 กำหนดช่วงเวลาในการทำงานล่วงเวลาเหมาะสม ร้อยละ 53.8 ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในงาน ร้อยละ 69.2 มีความประทับใจในการปฏิบัติงาน ร้อยละ 100  มีความประทับใจกับงานที่ตัวเองทำ คิดเป็นร้อยละ 100 (3) พฤติกรรมความปลอดภัยก่อนทำการวิจัยของกลุ่มตัวอย่างมีผลต่างเท่ากับ 0.17  ผลต่างส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.84 จากผลทดสอบทีพบว่า  ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95  (t = 0.115) พฤติกรรมความปลอดภัยหลังทำการวิจัยของกลุ่มตัวอย่างมีผลต่างเท่ากับ 7.92  ผลต่างส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ  20.07 จากผลทดสอบทีพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับเชื่อมั่นร้อยละ 95 (t = 4.842) และ(4) สามารถประยุกต์ใช้แนวทางการลดและป้องกันอุบัติเหตุมากำหนดหัวข้อด้านความปลอดภัยในตารางประชุมเช้าของโรงงานโดยมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพเป็นผู้ดำเนินกิจกรรม ข้อเสนอแนะจากการวิจัย ควรมีดำเนินการการสำรวจความพึงพอใจ ทัศนคติ ทั้งเชิงบวกและเชิงลบของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ  ควรมีการจัดสรรเวลาในการทำงานให้เหมาะสมในแต่ละตำแหน่งงาน จัดสรรเวลาการทำงานล่วงเวลาให้เหมาะสม ควรสนับสนุนการจัดกิจกรรมด้านความปลอดภัย เพื่อให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจในด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้น และมีการตรวจสอบอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างสม่ำเสมอ

Article Details

บท
บทความวิจัย