ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมารับบริการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคเรื้อรังในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำาบล เครือข่ายสุขภาพอำาเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี

Main Article Content

ทีนุชา ทันวงศ์, พย.บ.
นิตยา เพ็ญศิรินภา, ส.ด. (สุขศึกษา)
พรทิพย์ กีระพงษ์, วท.ม. (สาธารณสุขศาสตร์)

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) อัตราการมารับบริการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (2) ปัจจัยส่วนบุคคล ความสามารถในการเข้าถึงบริการ การรับรู้คุณภาพบริการรักษาพยาบาลโรคเรื้อรัง และการรับรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วยของผู้ป่วย (3) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ความสามารถในการเข้าถึงบริการ การรับรู้คุณภาพบริการ และการรับรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วย กับการมารับบริการรักษาพยาบาลโรคเรื้อรัง และ (4) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ในการจัดบริการรักษาพยาบาลโรคเรื้อรังของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เครือข่ายสุขภาพเขาย้อยประชากรในการวิจัย คือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง และ/หรือผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่แพทย์โรงพยาบาลเขาย้อยส่งต่อไปรักษาที่ รพ.สต. ทั้ง 12 แห่ง จำนวน 3,577 คน กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 320 คน ได้จากการสุ่มแบบมีระบบเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามที่มีค่าความเที่ยงทั้งฉบับเฉลี่ย 0.92 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและการทดสอบไค-สแควร์


ผลการวิจัยพบว่า (1) ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีอัตราการมารับบริการรักษาพยาบาลใน รพ.สต. เครือข่ายสุขภาพเขาย้อยทุกครั้งตามนัด ร้อยละ 42.50 (2) ผู้ป่วยโรคเรื้อรังส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 62.78 ปี มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน และไม่ได้ประกอบอาชีพหรือว่างงานมากที่สุด ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด มีระยะเวลาป่วยเฉลี่ย 7.68 ปี ด้านความสามารถในการเข้าถึงบริการพบว่า ส่วนใหญ่มีสิทธิบัตรประกันสุขภาพที่ไม่ต้องร่วมจ่าย 30 บาท มีระยะทางจากบ้านถึง รพ.สต. เฉลี่ย 1.67 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาการเดินทางเฉลี่ย 11.35 นาที เดินทางโดยใช้รถจักรยานยนต์ส่วนตัวมากที่สุด มีคะแนนการรับรู้คุณภาพบริการและการรับรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วยในภาพรวม อยู่ในระดับสูงทั้ง 2 ด้าน (3) รายได้ ระดับการศึกษา สิทธิการรักษา และระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางจากบ้านถึง รพ.สต. มีความสัมพันธ์กับการมารับบริการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 การรับรู้คุณภาพบริการด้านการให้บริการการดูแลสุขภาพองค์รวม การดูแลต่อเนื่องความพร้อมของสถานที่/อุปกรณ์การแพทย์ ยาและบุคลากร ความมั่นใจในการให้บริการของ รพ.สต. และความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการ มีความสัมพันธ์กับการมารับบริการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคเรื้อรังใน รพ.สต. เครือข่ายสุขภาพเขาย้อย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 และ (4) ข้อเสนอแนะของผู้ป่วยที่สำคัญคือ ควรมีการออกเยี่ยมบ้าน เพิ่มจำนวนบุคลากรให้เพียงพอ และความรวดเร็วในวันที่ให้บริการสถานที่ให้บริการของ รพ.สต. บางแห่งคับแคบและควรมีสื่อให้ความรู้เพิ่มขึ้น

Article Details

บท
บทความวิจัย