การจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมของโรงงานแปรรูปอาหารทะเลแช่แข็งในจังหวัดระนอง

Main Article Content

ศิริวรรณ พงศ์วิริยะกาญจน์, วท.บ.
จักรกฤษณ์ ศิวะเดชาเทพ, Ph.D. (Environmental Engineering)
ปีติ พูนไชยศรี, M.Sc. (Public Health Engineering)

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) แหล่งกำเนิด ปริมาณ และลักษณะทางกายภาพของกากของเสียอุตสาหกรรม 2) วิธีการเก็บรวบรวม และการขนส่งกากของเสียอุตสาหกรรม 3) วิธีการบำบัด และการกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม 4) ค่าใช้จ่ายในการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม และ 5) เสนอแนวทางการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมที่เหมาะสม


ประชากรที่ศึกษาคือ กากของเสียอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลแช่แข็งโดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงเป็นโรงงานแปรรูปอาหารทะเลแช่แข็ง จำนวน 1 แห่ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสำรวจที่ 1 ใช้ในการสำรวจแหล่งกำเนิดและปริมาณกากของเสีย แบบสำรวจที่ 2 ใช้ในการสำรวจวิธีการเก็บรวบรวม และการขนส่งกากของเสีย แบบสำรวจที่ 3 ใช้ในการสำรวจวิธีการบำบัด และการกำจัดกากของเสียแบบสำรวจที่ 4 ใช้ในการสำรวจค่าใช้จ่ายในการจัดการกากของเสีย และเครื่องมือในการหาปริมาณกากของเสียทั้งหมดและลักษณะทางกายภาพของกากของเสีย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา คือ ร้อยละ และค่าเฉลี่ยเลขคณิต


ผลการศึกษา พบว่า 1) กากของเสียอุตสาหกรรมเกิดจากทุกหน่วยงานในโรงงาน แบ่งเป็น 17 ชนิด เกิดขึ้นเฉลี่ย 81.06 กิโลกรัมต่อวัน ความหนาแน่นมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.12 กิโลกรัมต่อลิตร และมีองค์ประกอบทางกายภาพ ได้แก่ เศษอาหารมากที่สุด ร้อยละ 47.84 รองลงมาคือ พลาสติก แก้ว ยาง กระดาษ โลหะ และอื่นๆ ตามลำดับ 2) โรงงานมีการคัดแยกกากของเสียอุตสาหกรรมที่แหล่งกำเนิด มีภาชนะเก็บรวบรวม แต่ไม่มีการติดฉลากที่ภาชนะ สถานที่เก็บรวบรวมมี 2 จุดหลักได้แก่ ห้องเก็บขยะรีไซเคิล และพื้นที่บริเวณด้านหลังโรงงาน กากของเสียส่วนใหญ่มีผู้มารับซื้อที่โรงงานซึ่งการขนส่งออกนอกโรงงาน ไม่ได้มีการขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 3) โรงงานมีวิธีการบำบัดและการกำจัดได้แก่ การขาย การส่งกลับผู้ขาย การฝังกลบในพื้นที่โรงงาน การให้เทศบาลนำไปกำจัด และการให้แม่ค้าและประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ โดยกากของเสียที่นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ จะถูกทิ้งรวมกับกากของเสียทั่วไป 4) โรงงานมีรายได้จากการขายกากของเสียเฉลี่ยเดือนละ 67,678 บาท และมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดเฉลี่ยเดือนละ 2,000 บาท และ 5) แนวทางการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมมีวิธีการและขั้นตอนที่แตกต่างกันตามชนิดของกากของเสียอุตสาหกรรมแต่ละชนิด

Article Details

บท
บทความวิจัย