พฤติกรรมป้องกันอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานของพนักงานระดับปฏิบัติการ กลุ่มบริษัทบีเอเอสเอฟในประเทศไทย

Main Article Content

ศุภวรรณ รัตนภิรมย์, ศศ.ม. (จิตวิทยาชุมชน)
กมล โพธิเย็น, Ph.D.
อุรปรีย์ เกิดในมงคล, Ph.D.

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ระดับพฤติกรรมป้องกันอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานของพนักงานระดับปฏิบัติการและการบริหารจัดการความปลอดภัยขององค์กร 2) เปรียบเทียบพฤติกรรมป้องกันอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานของพนักงานระดับปฏิบัติการกลุ่มบริษัทบีเอเอสเอฟในประเทศไทยจำแนกตามข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา หน่วยงานที่สังกัดประสบการณ์การทำงานและประสบการณ์การได้รับอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงาน 3) ความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารจัดการความปลอดภัยขององค์กรกับพฤติกรรมป้องกันอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานของพนักงานระดับปฏิบัติการกลุ่มบริษัทบีเอเอสเอฟในประเทศไทย และ 4) มุมมองในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุของพนักงานระดับปฏิบัติการกลุ่มบริษัทบีเอเอสเอฟในประเทศไทย ซึ่งการวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสานวิธี โดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณคือพนักงานระดับปฏิบัติการ จำนวน 158 คน โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิตามสัดส่วนหน่วยงานที่สังกัดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพ คือ พนักงานระดับ ปฏิบัติการที่มีระดับพฤติกรรมป้องกันอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานสูงที่สุดจำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์เชิงลึก สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที การทดสอบความแปรปรวนทางเดียว การหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา


ผลการวิจัยพบว่า 1) พฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานและการบริหารจัดการความปลอดภัยขององค์กรของกลุ่มบริษัทบีเอเอสเอฟในประเทศไทยอยู่ในระดับมาก 2) พฤติกรรมป้องกันอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานของพนักงานระดับปฏิบัติการกลุ่มบริษัทบีเอเอสเอฟประเทศไทยจำแนกตามเพศ อายุ ระดับการศึกษา หน่วยงานที่สังกัดประสบการณ์การทำงานและประสบการณ์การได้รับอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงานไม่แตกต่างกัน 3) การบริหารจัดการความปลอดภัยขององค์กรกับพฤติกรรมการป้องกันอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานมีความสัมพันธ์กันในทิศทางเดียวกันในระดับสูง และ 4) มุมมองและการปฏิบัติตนเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานของพนักงานจากการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพพบว่า 1) การที่องค์กร มีการกำหนดมาตรการความปลอดภัยที่มีความชัดเจนและส่งเสริมให้พนักงานทุกคนในองค์กรปฏิบัติในทิศทางเดียวกันเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ทำให้พนักงานได้รับความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติงานและกล้าที่จะบอกปัญหาเมื่อพบเจอสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยเพื่อให้มีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขโดยทันที 2) ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญต่อตนเองและเพื่อนร่วมงานจึงให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรกเสมอในการปฏิบัติงาน 3) การที่องค์กรมีความเคร่งครัดเรื่องความปลอดภัยจะช่วยให้พนักงานใส่ใจและต้องปฏิบัติตามจนเกิดเป็นความเคยชินและเป็นนิสัย 4) แรงสนับสนุนหรือแรงผลักดันจากครอบครัวเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ส่งผลต่อการทำงานด้วยความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในการปฏิบัติงาน และ 5) ปัจจัยอื่นที่ช่วยส่งเสริม ผลักดัน หรือสนับสนุนให้ปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย ได้แก่ การมีแรงจูงใจในการทำงานของตัวพนักงานเอง การดำเนินงานด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องของบริษัท การสื่อสารด้านความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอและปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานที่น่าอยู่และเป็นระเบียบ

Article Details

บท
บทความวิจัย