ความรู้ ทักษะการบริหาร และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานอุตสาหกรรมผลิตยางธรรมชาติ พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย

Main Article Content

สุภาวิดา พริกเล็ก, ส.ม. (บริหารสาธารณสุข)
จำนงค์ ธนะภพ, ปร.ด. (ระบาดวิทยา)
ศศิธร ธนะภพ, ปร.ด. (ระบาดวิทยา)
นุจรีย์ แซ่จิว, ปร.ด. (สาธารณสุขศาสตร์)
อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว, ปร.ด. (ระบาดวิทยา)

บทคัดย่อ

การศึกษาเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวางนี้เพื่อวิเคราะห์ความรู้ ทักษะการบริหาร และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานในอุตสาหกรรมผลิตยางธรรมชาติ พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโรงงานแบบเจาะจง จำนวน 12 โรงงาน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามในประชากรศึกษา ได้แก่ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ระดับบริหาร วิชาชีพและหัวหน้างาน จำนวน 69, 11 และ 173 คน ตามลำดับวิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติ Chi-square test


ผลการศึกษาพบว่า 1) ความรู้เกี่ยวกับการบริหารด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยรวม ร้อยละ 53.3 อยู่ในระดับ ปานกลาง (คะแนนเฉลี่ย ร้อยละ 73.3) หากจำแนกตามประเภทของ จป. พบว่า ระดับบริหารมีความรู้อยู่ในระดับสูง ร้อยละ 53.7 ระดับวิชาชีพ และหัวหน้างาน มีความรู้อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 54.5 และ 57.2 ตามลำดับ 2) ทักษะการบริหารด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยร้อยละ 73.1 มีทักษะการบริหารโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (คะแนนเฉลี่ย 90.9 จากคะแนนเต็ม 120 คะแนน) หากจำแนกตามประเภทของ จป. ระดับบริหาร วิชาชีพ และหัวหน้างานพบว่า มีทักษะการบริหารอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 75.4, 72.7 และ 72.3 ตามลำดับ หากจำแนกรายด้านพบว่า การวางแผน การจัดองค์การ ด้านการอำนวยการหรือการชี้นำ และการควบคุมติดตามผลอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 66.8, 61.7, 68.0 และ 63.6 ตามลำดับ 3) การปฏิบัติงานตามกฎกระทรวงแรงงานกำหนดมาตรฐานใน การบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 โดยรวม ร้อยละ 58.9 มีการปฏิบัติงานในระดับปานกลาง (คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 77.1) และ 4) ปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิบัติงานของ จป. พบว่า ระดับความรู้และทักษะการบริหารด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยโดยรวม มีความสัมพันธ์ต่อการปฏิบัติงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01)


สรุปได้ว่า ความรู้และทักษะการบริหารด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยมีความจำเป็นอย่างมากต่อการปฏิบัติงานของ จป. ทุกประเภท ดังนั้น เจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรพัฒนาและสนับสนุนให้ จป. มีความรู้และทักษะในกระบวนการบริหารงาน เพื่อสนับสนุนให้การปฏิบัติงานเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

Article Details

บท
บทความวิจัย