การจัดการมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนนทบุรี

Main Article Content

พูลศักดิ์ พุ่มวิเศษ
ชฎาภรณ์ ประสาทกุล

บทคัดย่อ

การวิจัย เรื่องการจัดการมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนนทบุรี เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาใช้แนวคิดการจัดการ POSCD model ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนได้แก่ การวางแผน (P) การจัดองค์การ (O) การบริหารงานบุคคล (S) การควบคุมกำกับ (C) และการอำนวยการ (D) มีวัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษาการจัดการมูลฝอยของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การดำเนินงานของพนักงานจัดเก็บมูลฝอย ผลการจัดการมูลฝอย ความพึงพอใจในการจัดการมูลฝอยของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานจัดเก็บมูลฝอย และประชาชนผู้รับบริการจัดเก็บมูลฝอย และความสัมพันธ์ของการจัดการมูลฝอย การดำเนินงานของพนักงานจัดเก็บมูลฝอยกับผลการจัดการมูลฝอย ศึกษาเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีปริมาณมูลฝอยเฉลี่ยต่อวันมากที่สุด ได้แก่ เทศบาลนครนนทบุรี เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองบางบัวทอง และองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักพัฒนา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้น ประชากรที่ใช้ในการศึกษาคือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 38 คน พนักงานจัดเก็บมูลฝอย จำนวน 488 คน ประชาชนผู้รับบริการจัดเก็บมูลฝอย 399 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วย คอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และหาค่าความสัมพันธ์โดยใช้ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการวิจัย พบว่า การจัดการมูลฝอยของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ในระดับสูงการดำเนินงานของพนักงานจัดเก็บมูลฝอยอยู่ในระดับสูง ผลการจัดการมูลฝอยของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพนักงานจัดเก็บมูลฝอยอยู่ในระดับสูง ความพึงพอใจของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดการมูลฝอยอยู่ในระดับสูง ความพึงพอใจของพนักงานจัดเก็บมูลฝอยอยู่ในระดับสูง ความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการจัดเก็บมูลฝอยอยู่ในระดับปานกลาง การจัดการมูลฝอยมีความสัมพันธ์ทางบวกกับผลการจัดการมูลฝอยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ข้อเสนอแนะจากการวิจัยควรทบทวนการจัดทำแผนการจัดเก็บมูลฝอย การจัดทำกรอบอัตรากำลังของพนักงานจัดเก็บมูลฝอย คือ การจัดให้มีพนักงานอย่างน้อย 5 คน ต่อรถบรรทุกขยะ 1 คัน จัดอบรมให้ความรู้หรือศึกษาดูงานด้านการจัดการมูลฝอยให้กับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ จัดให้มีช่องทางให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานจัดเก็บมูลฝอย ควรให้ความสำคัญกับการคัดแยกมูลฝอย การแปรสภาพมูลฝอยเป็นปุ๋ย การจัดถังขยะแบบแยกประเภท ควรพิจารณาจัดหารถบรรทุกขยะ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการปฏิบัติงานใหม่ สำหรับข้อเสนอแนะในการทำวิจัยต่อไป ได้แก่ การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการแปลงสภาพมูลฝอยรูปแบบการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการหมักทำปุ๋ย และควรมีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสนทนากลุ่มหรือการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก

Article Details

บท
บทความวิจัย