การวิเคราะห์หาสาเหตุของการประสบอันตรายขั้นหยุดงานเกิน 3 วัน ด้วยเทคนิคการวิเคราะห์ต้นไม้แห่งความล้มเหลว: กรณีศึกษา 17 โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ

Main Article Content

อุมารัตน์ ศิริจรูญวงศ์
พงษ์สิทธิ์ บุญรักษา

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบย้อนหลังเพื่อวิเคราะห์สาเหตุของการประสบอันตรายขั้นหยุดงานเกิน 3 วันของพนักงาน 96 คนจากโรงงานอุตสาหกรรม 17 แห่งในจังหวัดสมุทรปราการ โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์ต้นไม้แห่งความล้มเหลว เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันอุบัติเหตุต่อไป วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ
เชิงพรรณนาแสดงจำนวนและร้อยละของสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้เกิดการประสบอันตรายขั้นหยุดงานเกิน 3 วัน ผลการศึกษาพบว่า การประสบอันตรายขั้นหยุดงานเกิน 3 วัน ส่วนใหญ่มาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณกระบวนการผลิต ค่าเฉลี่ยของการหยุดงานเท่ากับ 16.8 วัน อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากหลายสาเหตุพื้นฐานประกอบกัน ได้แก่ การกระทำที่ต่ำกว่ามาตรฐาน สภาพการณ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ปัจจัยเกี่ยวข้องกับงาน และปัจจัยเกี่ยวข้องกับคน ชุดสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่พบมากที่สุดคือการกระทำที่ต่ำกว่ามาตรฐาน สภาพการณ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ร่วมกับปัจจัยเกี่ยวข้องกับงาน (ร้อยละ 59.4) รองลงมา คือ การกระทำที่ต่ำกว่ามาตรฐานร่วมกับปัจจัยเกี่ยวข้องกับงาน (ร้อยละ 13.5) ซึ่งการทำงานด้วยความประมาทไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงาน เป็นการกระทำที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่พบมากที่สุด ขณะที่เครื่องมือ อุปกรณ์ชำรุดไม่มีการ์ดป้องกัน ถูกพบมากที่สุดสำหรับสภาพการณ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากนั้น การขาดการอบรมเกี่ยวกับความปลอดภัยและการขาดความชำนาญในการทำงานซึ่งเป็นปัจจัยเกี่ยวกับงานและคนตามลำดับ ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น การควบคุมและป้องกันการประสบอันตรายขั้นหยุดงานเกิน 3 วันอย่างมีประสิทธิภาพจึงควรต้องพิจารณาทั้ง 4 ปัจจัยดังกล่าว ร่วมกัน ได้แก่ การกระทำที่ต่ำกว่ามาตรฐาน สภาพการณ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และปัจจัยเกี่ยวข้องกับงานและคน

Article Details

บท
บทความวิจัย