การเปรียบเทียบความรู้ทัศนคติพฤติกรรมของเกษตรกรผู้ปลูกข้ววและปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในสิงแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในสิ่งแวดล้อม ตำบลปากพนังฝั่งตะวันตก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 72 คน ซึ่งทำนาแบบใช้สารกำจัดศัตรูพืช และแบบไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช จำนวน 40 และ 32 คน ตามลำดับ เครื่องมือเป็นแบบสอบที่มีค่าความเชื่อมั่นด้วยสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค เท่ากับ 0.794 จากการศึกษาพบว่า เกษตรกรทั้งสองกลุ่มส่วนใหญ่มีความรู้อยู่ในระดับสูง ทัศนคติอยู่ในระดับดี พฤติกรรมการปฏิบัติงานที่สัมผัสกับสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างของเกษตรกรกลุ่มที่ทำนาแบบใช้สารกำจัดศัตรูพืชอยู่ในระดับปานกลาง และ ดี ร้อยละ 56.25 และ 43.75 ตามลำดับ จากการหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรความรู้และทัศนคติกับกลุ่มผู้ใช้และไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชมีความสัมพันธ์กันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ การวิเคราะห์ สารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อมจำนวน 99 ชนิด ตัวอย่างดินพบ Parathion-methyl, Fipronil และ Chlorpropham มากที่สุดเป็นสามอันดับแรก ปริมาณเฉลี่ยในตัวอย่างดินจากพื้นที่นาที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชเท่ากับ 0.0255, 0.0168 และ 0.0139 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ และจากพื้นที่นาที่ไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชมีปริมาณเฉลี่ยเท่ากับ 0.0411, 0.0193 และ 0.0171 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ นอกจากนี้พบสารทั้งสามชนิดในตัวอย่างข้าวเปลือกจากการทำนาแบบใช้สารกำจัดศัตรูพืช โดยมีปริมาณเฉลี่ยเท่ากับ 0.0645, 0.01796 และ 0.0157 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้สาร Parathion methyl จัดเป็นสารห้ามใช้ และค่าเฉลี่ยปริมาณการตกค้างของสาร Fipronil ในตัวอย่างข้าวเปลือกเกินค่ามาตรฐานทั้งแปลงที่ทำนาแบบใช้และไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช
Article Details
Journal of Safety and Health is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International (CC BY-NC-ND 4.0) licence, unless otherwise stated.