จริยธรรมการตีพิมพ์

Publication Ethics

จริยธรรมในการตีพิมพ์

          วารสารพยาบาลทหารบก มีความมุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์สูงสุด ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามหลักการและมาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์อย่างเคร่งครัด

บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบบทความที่ส่งมาเพื่อเข้ารับพิจารณาตีพิมพ์กับวารสารทุกบทความ โดยพิจารณาเนื้อหาบทความที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร
  2. บรรณาธิการมีการตรวจสอบคุณภาพของบทความก่อนการตีพิมพ์
  3. บรรณาธิการจะต้องดูแลกระบวนการตีพิมพ์บทความของวารสาร (Peer Review Process) ให้เป็นไป ตามมาตรฐานทางวิชาการของวารสารอย่างเคร่งครัด มีผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความจำนวน 3 ท่าน ที่มาจากหลากหลายสถาบัน
  4. บรรณาธิการมีหน้าที่จัดการพิจารณาบทความแบบ double blind peer review
  5. บรรณาธิการต้องใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความทุกครั้งโดยปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้นิพนธ์ในด้านเชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และสังกัดของผู้นิพนธ์
  6. บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์หรือผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจหรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง
  7. บรรณาธิการต้องไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบทความและผลประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงไม่ปิดกั้นข้อมูลที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและผู้นิพนธ์
  8. บรรณาธิการจะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้นิพนธ์ และข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจถูกแสดงไว้ในบทความ เว้นแต่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
  9. หากกรณีเกิดปัญหาที่เกินขอบเขตหน้าที่ของบรรณาธิการ จะต้องนำเรื่องเข้าสู่กองบรรณาธิการ เพื่อตัดสินใจร่วมกันบนพื้นฐานฉันทามติ (consensus)
  10. บรรณาธิการต้องรักษามาตรฐานของวารสาร รวมถึงพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและมีความทันสมัยเสมอ

บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์

  1. ผลงานของผู้นิพนธ์ต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน และไม่อยู่ระหว่างการเสนอ เพื่อพิจารณาเผยแพร่ในวารสารฉบับอื่น
  2. ผู้นิพนธ์ต้องไม่คัดลอกผลงานผู้อื่น (plagiarism) และต้องมีการอ้างอิงทุกครั้งเมื่อนำผลงานของผู้อื่นมาอ้างอิงในเนื้อหาบทความของตนเองอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
  3. ผู้นิพนธ์ต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ในข้อมูล และเนื้อหา รูปภาพ ในบทความของตนเอง
  4. ผู้ร่วมนิพนธ์ (co-author) ทุกคนต้องรับทราบ และให้ความยินยอมในการส่งบทความมายังวารสาร
  5. ข้อมูลที่นำเสนอในบทความ ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากการศึกษาวิจัย ผู้นิพนธ์ต้องไม่บิดเบือน ปลอมแปลง หรือนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ
  6. ผู้นิพนธ์พึงกระทำตามขั้นตอนของวารสาร เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของเนื้อหาที่ได้นำมาตีพิมพ์เผยแพร่
  7. ผู้นิพนธ์ต้องแสดงเอกสารใบรับรองจริยธรรม และแสดงข้อความในบทความว่าได้ผ่านการรับรองจริยธรรม ในกรณีเป็นวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยในมนุษย์ ตามเงื่อนไขของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

บทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

  1. ผู้ประเมินบทความต้องตระหนักว่าผู้ประเมินบทความมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของผลงานวิชาการที่รับประเมินอย่างแท้จริง
  2. ผู้ประเมินบทความต้องคำนึงถึงคุณภาพบทความเป็นหลัก พิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการโดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัว
  3. ผู้ประเมินบทความต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน
  4. ผู้ประเมินบทความตรวจสอบพบว่าบทความที่รับประเมิน เป็นบทความที่คัดลอกผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที
  5. ผู้ประเมินบทความต้องพิจารณา และให้เหตุผลการขอให้ผู้แต่งแก้ไขบทความ รับบทความ การปฏิเสธรับบทความ เป็นลายลักษณ์อักษรให้กับบรรณาธิการได้ทราบ
  6. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาประเมินที่กำหนด
  7. ผู้ประเมินบทความไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความ