รายงานผลการดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการพยาบาล กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี

ผู้แต่ง

  • ณาตยา ขนุนทอง
  • Siwadol Prapunpiboon -

คำสำคัญ:

ผลการดำเนินงาน, ศูนย์ปฏิบัติการณ์การตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการพยาบาล, กลุ่มการพยาบาล

บทคัดย่อ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นโรคที่อุบัติใหม่และมีการแพร่ระบาดไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีการแพร่ระบาดมาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต สร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ กระทรวงสาธารณสุข นำแนวคิดระบบบัญชาการเหตุการณ์มาใช้ในการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินนี้

บทบาทของพยาบาลภายใต้กรอบแนวคิด “ระบบบัญชาการเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ที่เน้นการมีหัวหน้าโดยตรงเพียงคนเดียว” ทำให้เกิดการก่อตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการพยาบาล” โดยทำหน้าที่สนับสนุนผู้บัญชาการเหตุการณ์ทุกด้านอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัย กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการพยาบาลขึ้น เพื่อ 1. เป็นศูนย์รวมด้านการบริหารจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะฉุกเฉิน ได้แก่การสั่งการ (Command) การควบคุมระบบบริการพยาบาล (Control) ประสานความร่วมมือ (Coordination) และการสื่อสาร (Communication) 2. กำหนดตำแหน่งและบทบาทหน้าที่บุคลากรพยาบาล ให้ชัดเจนและเหมาะสมกับภาระงาน และ 3.จัดทำแนวทางการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทั้ง 3 S ได้แก่ Staffs, Stuffs และ Systems

ผลการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการพยาบาล พบว่า 1. มีสถานที่ตั้งและบริหารจัดการได้ 2. แต่งตั้งและกำหนดบทบาท หน้าที่ของผู้บัญชาการและผู้รับผิดชอบด้านต่างๆได้ 3. มีแนวทางปฏิบัติงานที่เหมาะสมและครอบคลุมการระบาดของโรคโควิด 19 ได้ทั้ง 3 ระยะ คือ ระยะก่อนเกิดการระบาด ระยะขณะเกิดการระบาดและระยะหลังเกิดการระบาด นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ฉุกเฉินหรือภัยพิบัติอื่นได้

References

กรมควบคุมโรค. (ม.ป.ป.). การจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ระบบบัญชาการเหตุการณ์และศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรมควบคุมโรค. สืบค้น 9 มกราคม 2566, จาก http://www.ppho.go.th/webppho/dl_strat/F20170616075301.pdf

บัญชา เกิดมณี, สุรชัย ธรรมทวีธิกุล, ญานพินิจ วชิรสุรงค์, บดินทร์ชาติ สุขบท, และสมบัติ ทีฆทรัพย์. (2563). แนวคิดและทิศทางการแก้ปัญหาโควิด-19. วารสารก้าวทันโลกวิทยาศาสตร์, 20(1), 1-12.

วลัยพร รัตนเศรษฐ และสมศักดิ์ วานิชยาภรณ์. (2564). บทบาทของภาครัฐในการบริหารจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19. วารสารการบริหารและสังคมศาสตร์ปริทรรศน์, 4(2), 71-87.

สุรชัย โชคครรชิตไชย. (2563). โควิด-19: การระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยปลายปี 2563. วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย, 10(3), 1-2.

Dong, E., Du, H., & Gardner, L. (2020). An interactive web-based dashboard to track COVID-19 in real time. The Lancet infectious diseases, 20(5), 533-534.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-03-17