ปัจจัยทางจิตวิทยาที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยคริสเตียนของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2553

ผู้แต่ง

  • ภูริทัต สิงหเสม มหาวิทยาลัยคริสเตียน

บทคัดย่อ

          การวิจัยเรื่อง "ปัจจัยทางจิตวิทยาที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคริสเตียนของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2553" มีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ เพื่อศึกษาปัจจัยทางจิตวิทยาที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคริสเตียนของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2553 เพื่อศึกษาสาเหตุการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในคณะวิชาและสาเหตุการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคริสเตียนและเพื่อศึกษาว่านักศึกษาชั้นปีที่ 1 ระดับปริญญาตรี รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยคริสเตียนผ่านช่องทางใด

          การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูล กลุ่มตัวอย่าง คือ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ระดับปริญญาตรี ที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยคริสเตียน ทุกสาขาวิชา  ในปีการศึกษา 2553 จำนวน 276 คน โดยผู้วิจัยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบสัดส่วน (Proportional stratified random sampling) และเก็บข้อมูลจากนักศึกษา   โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental  random sampling)แล้วนำเครื่องมือวิจัยที่เก็บข้อมูลไปวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปใช้การแจกแจงหาความถี่ คำนวณหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน        

          ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิง มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคะวันออกเฉียงเหนือ โดยสำเร็จการศึกษาแผนการเรียนสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ระหว่าง 2.51-3.00 กำลังศึกษาอยู่ในคณะพยาบาลศาสตร์มากที่สุด โดยมีผู้ปกครองประกอบอาชีพเกษตรกรมากที่สุด รายได้ของผู้ปกครองต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และบิดามารดาเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่าย

          ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในคณะวิชาที่ศึกษาอยู่เนื่องจาก เป็นสาขาวิชาที่มีความมั่นคงในอาชีพ มีความชอบ ความสนใจและอยากเรียนในคณะวิชานั้น ซึ่งบิดามารดาและผู้ปกครอง มีส่วนช่วยในการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในสาขาวิชา และสาเหตุที่นักศึกษาตัดสินใจเลือกศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคริสเตียน คือ คณะวิชาและสาขาวิชาตรงกับความต้องการของตน และมหาวิทยาลัยคริสเตียน มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคม อีกทั้งมีคณาจารย์ที่มีประสบการณ์และมีความรู้ ความชำนาญ

          ปัจจัยทางจิตวิทยาที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคริสเตียน พบว่า ปัจจัยด้านความถนัดและความสนใจและปัจจัยด้านแรงจูงใจจากสังคมและสภาพแวดล้อม ในภาพรวมมีความสำคัญอยู่ในระดับมาก และมีความคาดหวังต่อการประกอบอาชีพด้านสาธารณสุขมากที่สุด และต้องการเงินเดือน เดือนละ 10,001 - 20,000 บาท มีความต้องการประกอบอาชีพที่มีความมั่นคงสูง โดยคาดหวังที่จะทำงานราชการ/งานรัฐวิสาหกิจ ที่มีเงินเดือนประจำ ปัจจัยด้านการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย ในภาพรวมมีความสำคัญ อยู่ในระดับมาก นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เคยรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยคริสเตียน มาก่อนที่จะเลือกเข้าศึกษาต่อโดยสื่อที่รับรู้ มากเป็นอันดับ 1 ได้แก่ ป้ายประกาศรับสมัครของมหาวิทยาลัย รองลงมาคือ เวปไซด์ของมหาวิทยาลัย และบุคคลอื่นๆ แนะนำ

References

กิ่งแก้ว ทรัพย์พระวงศ์. (2550). บุคลิกภาพและการปรับตัว. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

เกษม วัฒนชัย. (2538). การปฏิรูปการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาฯ.

เติมศักดิ์ คทวณิช. (2546). จิตวิทยาทั่วไป. กรุงเทพฯ : ส.เอเซียเพรส.

นันทินี คุ้มปรีดี. (2543). การตัดสินใจศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 : กรณีศึกษาโรงเรียนยางชุมน้อยพิทยาคม อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

ปฐม นิคมานนท์. (2528). การศึกษานอกโรงเรียน. กรุงเทพฯ: ทิพย์อักษร.

ประดินันท์ อุปรนัยและคณะ. (2548). เอกสารการสอนวิชาพฤติกรรมวัยรุ่น. กรุงเทพฯ:สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

พรชนิตว์ รอดพร้อม. (2552). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเอกชนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร. สารนิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.

วิชุตา นาคเถื่อน. (2549). ความคาดหวังในการนำความรู้ไปใช้ของนิสิตปริญญาตรี หลักสูตร บริหารธุรกิจบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ศรีธรรม ธนะภูมิ. (2535). พัฒนาการทางอารมณ์และบุคลิกภาพ. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์.

ศรีเรือน แก้วกังวาล. (2545). จิตวิทยาพัฒนาการชีวิตทุกช่วงวัย (เล่ม2) วัยรุ่น-วัยสูงอายุ. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สุทธารัตน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา. (2550). ความคาดหวังในการเลือกประกอบอาชีพของนักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สารนิพนธ์พัฒนาแรงงานและสวัสดิการมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Super, D.E., Starishevsky, R., Matlin, N., et al. (1963). Career development : A self-concept theory. New York : College Entrance Examination Board.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2011-04-30