ความมั่นคงในชีวิตของนักธุรกิจขนาดเล็ก
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) ศึกษาระดับความมั่นคงในชีวิตของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดเล็ก 2) เปรียบเทียบความมั่นคงในชีวิตของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดเล็กจำแนกตามพื้นฐานของผู้ประกอบการ ได้แก่ เพศ ศาสนา สถานภาพการสมรส วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจ เหตุผลของการเลือกทำธุรกิจ และสถานภาพผู้ประกอบการ ได้แก่ ประเภทธุรกิจ รูปแบบของธุรกิจ ลักษณะการบริหารธุรกิจ ลักษณะของช่องทางการจำหน่าย ระบบการเงินของธุรกิจ 3) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านสภาพความพร้อมและวิธีการประกอบธุรกิจ ได้แก่ ความรู้ในการประกอบธุรกิจ คุณสมบัติในการเป็นผู้ประกอบการ และวิธีการดำเนินธุรกิจกับความมั่นคงในชีวิตของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดเล็ก และ 4) ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความมั่นคงในชีวิตของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดเล็ก กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดเล็ก ทั้งกลุ่มการผลิต กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มบริการ และกลุ่มการค้า ทั้งในจังหวัดราชบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 210 ราย เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามความมั่นคงในชีวิตของนักธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งประกอบด้วยข้อคำถาม 5 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานผู้ประกอบการ สถานภาพผู้ประกอบการ สภาพความพร้อม วิธีการประกอบธุรกิจและความคิดเห็นเพิ่มเติมด้านความมั่นคงในชีวิต สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบด้วย t-test การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว และวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุ
ผลการศึกษา พบว่า
- ความมั่นคงในชีวิตของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดเล็กมีสภาพความพร้อมและวิธีการประกอบ ธุรกิจอยู่ในระดับปานกลาง
- ความมั่นคงในชีวิตของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดเล็กจำแนกตามพื้นฐานของผู้ประกอบการ ได้แก่ เพศอายุ ศาสนา สถานภาพการสมรส วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจ เหตุผล ของการเลือกทำธุรกิจและสถานภาพผู้ประกอบการ ได้แก่ ประเภทธุรกิจ รูปแบบของธุรกิจ ลักษณะการบริหารธุรกิจ ลักษณะของช่องทางการจำหน่าย ระบบการเงินของธุรกิจ พบว่า ในภาพ รวมของประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจและประเภทธุรกิจที่ต่างกัน ความมั่นคงในชีวิตของนักธุรกิจขนาดเล็ก มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สำหรับในภาพรวมของเพศ ศาสนา สถานภาพการสมรส วุฒิการศึกษา เหตุผลของการเลือกทำธุรกิจ รูปแบบของธุรกิจ ลักษณะการบริหารธุรกิจ ลักษณะของช่องทางการจำหน่าย ระบบการเงินของธุรกิจต่างกัน ความมั่นคงในชีวิตของนักธุรกิจขนาดเล็ก ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
- สหสัมพันธ์พหุคูณระหว่างสภาพความพร้อมและวิธีการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการกับความมั่นคงในชีวิตของนักธุรกิจขนาดเล็ก พบว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าสหสัมพันธ์พหุคูณเท่ากับ 0.738 แสดงว่าสภาพความพร้อมและวิธีการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการทั้ง 3 ด้านส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิตของนักธุรกิจขนาดเล็ก คิดเป็นร้อยละ 54.5
References
กุลภัทรา สิโรดม. (2546). การวิจัยเบื้องต้นเพื่อการพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบกิจการ : กลุ่มวิสาหกิจขนาดเล็กประเภทกิจการผลิตในประเทศไทย : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระทรวงอุตสาหกรรม.
กตัญญู หิรัญญสมบูรณ์. (2545). การจัดการธุรกิจขนาดย่อม. พิมพ์ครั้งที่ 4 . กรุงเทพฯ : บริษัท เท็กซ์ แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น จำกัด.
ก่อเกียรติ ชวนิตย์ โชติรัส ชวนิตย์ และปริญ ลักษิตานนท์. (2537). ธุรกิจขนาดย่อม . กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.
ชนินทร์ ชุณหพันธรักษ์. (2541). การจัดการธุรกิจขนาดย่อม . กรุงเทพฯ : ศูนย์เอกสารและตำรา สถาบันราชภัฎสวนดุสิต.
ดนัย เทียนพุฒ. (2531). ความเป็นผู้ประกอบการ. จุฬาลงกรณ์ปริทัศน์ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทับทิม วงศ์ประยูรและคณะ . (2542). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ . พิมพ์ครั้งที่ 3 . กรุงเทพฯ : อักษรสยามการพิมพ์.
ทับทิม วงศ์ประยูร และคณะ. (2540). ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ .กรุงเทพฯ : อักษรสยามการพิมพ์.
ศรีปริญญา ถาวรประเสริฐ. (2543). ปัจจัยที่มีผลต่อการบริหารงานธุรกิจขนาดย่อม : กรณีศึกษาการบริหารงานบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ : วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.