อนาคตภาพบทบาทสตรีไทยและสภาสตรีแห่งชาติใน พระบรมราชินูปถัมภ์ : ยุทธศาสตร์ 50 ปี

ผู้แต่ง

  • จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง มหาวิทยาลัยคริสเตียน

บทคัดย่อ

          ในสองทศวรรษที่ผ่านมา บทบาทสตรีทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศมีความเด่นชัดมากขึ้นทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เมื่อพิจารณาวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปีในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2551) พบว่าการกำหนดบทบาทของสตรีไทยยังไม่ชัดเจน ดังนั้นการมีเส้นทางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมและการมีเป้าหมายในการพัฒนาบทบาทสตรีที่ชัดเจน จะทำให้สภาสตรีแห่งชาติฯ มีเครื่องมือเพื่อการสื่อสารและการดำเนินงานกับทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเกี่ยวกับภาพของสังคมในอนาคต ในมิติของบทบาทของสตรีไทยและบทบาทของสภาสตรีแห่งชาติฯ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญต่างๆ ที่จะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาสังคมและประเทศในอนาคตในห้วงเวลา 10 ปี และ50 ปีข้างหน้า โดยการรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณจากกลุ่มผู้ให้ข้อมูล ประกอบด้วย กลุ่มกรรมการดำเนินงานและองค์กรสมาชิกของสภาสตรีแห่งชาติฯกลุ่มผู้แทนจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสตรี นักการเมือง นักกฎหมาย นักวิชาการ ผู้นำสตรีระดับรากหญ้า นักศึกษา และสตรีนักธุรกิจ ในห้วงเดือนเมษายน ถึง เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554

          ข้อค้นพบจากการวิจัย เป็นพบว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาพอนาคตของบทบาทของสภาสตรีแห่งชาติฯ ทั้งปัจจุบันและในอนาคต ในระยะ10 ปี และ 50 ปี ข้างหน้า ซึ่งผู้วิจัยได้นำมาใช้กำหนด (ร่าง) เส้นทางแผนยุทธศาสตร์สภาสตรีแห่งชาติฯ ใน 10 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ ค่านิยมเกี่ยวกับสตรี และประเด็นยุทธศาสตร์จำนวน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การส่งเสริมสถานภาพสตรีไทย การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการพิทักษ์สิทธิสตรีในสังคมไทย การส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรสมาชิกองค์กรเครือข่ายสตรีและกลุ่มสตรีต่างๆ ในสังคม การเป็นองค์กรที่พึ่งหลักของสตรีที่เดือดร้อนในสังคมไทย การเป็นตัวแทนที่เข้มแข็งของสตรีทั้งในประเทศและนานาชาติ ตลอดจนการเป็นองค์กรที่ร่วมพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ทั้งนี้ ในแต่ละยุทธศาสตร์ได้กำหนดเป้าประสงค์ ตัวชี้วัด/ เป้าหมาย และกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่การดำเนินการส่วน(ร่าง) เส้นทางแผนยุทธศาสตร์ของสภาสตรีแห่งชาติฯ ใน 50 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ ค่านิยมเกี่ยวกับสตรี และประเด็นยุทธศาสตร์จำนวน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การธำรงสถานภาพสตรีไทยในประชาคมโลก การธำรงความเสมอภาคระหว่างเพศและการพิทักษ์สิทธิสตรีไทยในประชาคมโลก การขยายเครือข่ายองค์กรสมาชิกไปทั่วโลก รวมทั้ง การเป็นองค์กรผู้นำสตรีที่เป็นหลักในการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนและประชาคมโลก คณะผู้วิจัยยังได้นำเสนอ (ร่าง) เส้นทางแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 2 (ร่าง) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของสภาสตรีฯและในการประชุมใหญ่ประจำปีของสภาสตรีแห่งชาติฯ และได้สำรวจความคิดเห็นของกรรมการบริหารและองค์กรสมาชิกของสภาสตรีฯต่อแผนยุทธศาสตร์ฯ ใน 10 ปีข้างหน้า พบว่า ร้อยละ 75.76 เห็นด้วยกับ (ร่าง) เส้นทางแผนยุทธศาสตร์โดยไม่มีข้อเสนอแนะ ส่วนแผนยุทธศาสตร์ฯ ใน 50 ปีข้างหน้า พบว่า ร้อยละ 82.61 เห็นด้วยกับ (ร่าง) เส้นทางแผนยุทธศาสตร์โดยไม่มีข้อเสนอแนะเช่นกัน

          คณะผู้วิจัยจึงได้เสนอแนะให้คณะกรรมการบริหารของสภาสตรีฯเร่งรัดดำเนินการตามที่กำหนดไว้ใน (ร่าง) เส้นทางแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างแข็งขันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วยความ ร่วมมือขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบทบาทของสตรีไทย และบทบาทของสภาสตรีฯ ด้วยความร่วมมือระหว่างองค์กรภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการมีแผนยุทธศาสตร์ ระยะยาวสำหรับการพัฒนาบทบาทของสตรีและสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ที่ชัดเจนเป็นเครื่องมือสำคัญองสภาสตรีแห่งชาติฯรวมทั้งองค์กรสมาชิกของสภาสตรีฯ ตลอดจนสตรีไทยในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และประเทศไทยอย่างยั่งยืน

References

ชาย โพธิสิตา. (2547). ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ. กรุงเทพ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับบิชชิ่ง.

บุษบงก์ วิเศษพลชัย. (2552). ดอกไม้ในพายุ : กรณีศึกษาผ่านมุมมองประสบการณ์ของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำซากในครอบครัว. สถานีอนามัยนาเกลือ จังหวัดสมุทรปราการ.

พงษ์เดช สารการ และ เยาวเรศ คำมะนาด. (2552). พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการกระทำรุนแรงของสามีต่อภรรยา. มหาวิทยาลัยขอนแก่น. คณะสาธารณสุขศาสตร์ โรงพยาบาลขอนแก่น.

สิปปนนท์ เกตุทัต. (2534). ทางสายกลางของสังคมไทยในอนาคต : เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม. วิจัยและเรียบเรียงโดย โรเบิร์ต บี เทกซ์เตอร์. ไทยวัฒนาพานิช, กรุงเทพ.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2551). ทิศทางแผนพัฒนาฉบับที่ 11. เอกสารประกอบการประชุมประจำปี 2553 ของ สศช. วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม 2553 ณ ห้อง แกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี.

Morse, J.M. and Field, P.A. (1996). Nursing Research : The Application of Qualitative Approaches, Second edition, Chapman & Hall, London.

Textor, R., (1980). A Handbook on Ethnographic Futures Research, 3rd Ed. Cultural and Educational Futures Research Project, School of Education and Department of Anthropology, Stanford University, Stanford, CA.

Textor, R. (1992). Methodology appendix, in S. Ketudat, The middle path for the future fo Thailand: Technology in harmony with culture and environment. Honolulu, Hawaii.

Textor, R. (2008). Ethnographic future research, A short history, August 2008The Global Fund for Women. (2011). [online]. available from : (https://www.kintera.org/atf/cf/%7BA98DAD81-089D-418F-81B2-6258D2909125%7D/STATUS%20OF%20WOMEN.PDF. (สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์, 2554).

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2011-12-31