ผลลัพธ์ของการใช้โปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจ ในสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ผู้แต่ง

  • อารีนา ภาณุโสภณ มหาวิทยาลัยคริสเตียน

บทคัดย่อ

          ปัจจุบันโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์นับว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญมากปัญหาหนึ่ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นความสำคัญ และให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นโรคที่มีอันตรายต่อตัวมารดา และทารกในครรภ์ อุบัติการณ์ของเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ของประชากรไทยพบร้อยละ 2 - 3 โรงพยาบาลสามพรานพบสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ในช่วงพ.ศ. 2550 -2554 เพิ่มขึ้น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ การเสริมสร้างพลังอำนาจสามารถป้องกันผลกระทบที่เกิดจากเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลลัพธ์ของการใช้โปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจในสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีเบาหวานขณะตั้งครรภ์ซึ่งมารับบริการที่หน่วยฝากครรภ์ โรงพยาบาลสามพราน จังหวัดนครปฐม ผู้วิจัยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 60 ราย แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 30 ราย ได้รับการพยาบาลตามปกติ และกลุ่มทดลอง 30 ราย ได้รับการพยาบาลตามโปรแกรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามกรอบแนวคิดของ  กิบสัน (Gibson, 1991) และการดูแลตนเองของโอเร็ม เก็บรวบรวมข้อมูลช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 ถึง พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย โปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจในสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แบบสอบถามความรู้ในการดูแลตนเอง และแบบประเมินความสามารถในการดูแลตนเองสำหรับสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทำการพิทักษ์สิทธิ์ของกลุ่มตัวอย่าง อย่างเคร่งครัด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสถิติเชิงพรรณนา และเปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยด้วยสถิติ Independent t - test

         ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีคุณลักษณะทางประชากร สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมคล้ายกัน ภายหลังการเข้าร่วมโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจในสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่ากลุ่มควบคุม คะแนนเฉลี่ยความรู้ในการดูแลตนเอง คะแนนเฉลี่ยความสามารถในการดูแลตนเองในสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจมีประสิทธิภาพในสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ช่วยให้มีความรู้และความสามารถในการดูแลตนเอง ทำให้สตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

          ดังนั้น ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่าพยาบาลที่หน่วยฝากครรภ์ควรนำโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจโดยให้ความรู้และความสามารถในการดูแลตนเองไปพัฒนาระบบการดูแลสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้สตรีตั้งครรภ์มีคุณภาพชีวิตที่ดี

References

กาญจนา ปัญญาธร. (2551). การศึกษาเปรียบเทียบ ผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและผู้ที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ตำบลเชียงยืน อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี. ผลงานวิชาการ. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี.

กองสถิติ กระทรวงสาธารณสุข. (2553). สถิติสาธารณสุข. นนทบุรี : สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์.

งานส่งเสริมสุขภาพ. (2554). ข้อมูลอนามัยแม่และเด็ก. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม. นครปฐม.

นุชปิยา เต็มภาชนะ. (2553). ผลของโปรแกรมการป้องกันเบาหวานในผู้มีภาวะเบาหวานแฝง โรงพยาบาล สมเด็จพระปิ่นเกล้า. วิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยคริสเตียน.

บุญใจ ศรีสถิตย์นรากูล. (2553). ระเบียบวิธีการวิจัยทางการพยาบาล. พิมพ์ครั้งที่ 5 กรุงเทพมหานคร. บริษัท ยูแอนไอ อินเตอร์มีเดีย จำกัด.

บุษกร อ่อนโนน. (2547). ผลของการการสร้างพลังอำนาจแบบกลุ่มต่อความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน. วิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่, บัณฑิตวิทาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เยื้อน ตันนิรันดร และคณะ. (2551). เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ.ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย.

วัลลา ตันตโยทัย. (2540). รูปแบบการพัฒนาศักยภาพในการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน. วิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

อรทิพย์ เอ่งฉ้วน. (2549). ผลของโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพต่อระดับน้ำตาลเกาะเม็ดเลือดแดงในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2. วิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อุษา ทัศนวิน. (2553). ผลของการเข้าค่ายเบาหวานกลางวันต่อการรับรู้สมรรถนะแห่งตน พฤติกรรมการดูแลตนเองและระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2. วารสารสภาการพยาบาล, 25(1) : 53-66.

Amos, A.F., Mc, Carty D.J., & Zimmet, P. (1997). The rising global burden of diabetes and its complications: estimates and projections to the year 2010. Diabet Med. 14 (5) : S1-85.

Gibson CH. (1991). A concept analysis of empowerment. Journal of Advanced Nursing. 16(3) : 354-361

________ (1995). The process of empowerment in mothers of chronically ill children. Journal of Advanced Nursing. 21(6) : 1201-1210.

Kim, C., Mc Ewen, L.N.,Kieffer,E.C., Herman, W.H., Piette, J.D. (2008). Self-efficacy, social support, and associations with physical activity and body mass index among women with histories of gestational diabetes mellitus. Diabetes Educ. 2008 Jul-Aug; 34(4) : 719-28.

Orem, D.E. (1995). Nursing : Concepts of Practice. St.Louis : Mosby Year Book.

Orem, D.E., Taylor, S.G., Renpenning, K.M. (2001). Nursing : Concepts of Practice. St.Louis: Mosby Year Book.

Shi, Q., Ostwald, S.K. and Wang, S. (2009). Improving glycaemic control self-efficacy and glycaemic control behaviour in Chinese patients with type 2 diabetes mellitus : randomised controlled trial. Journal of Clinical Nursing. 19(3-4), 398-404.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2012-04-30