ภาษีคาร์บอน : ความรับผิดชอบของธุรกิจต่อการลดภาวะโลกร้อน

ผู้แต่ง

  • อนุธิดา ประเสริฐศักดิ์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน

บทคัดย่อ

          ปัญหาภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน เกิดจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุหลักของปัญหาเกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่มีคุณสมบัติในการรักษาอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศของโลกให้คงที่เพื่อให้สิ่งมีชีวิตในโลกดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ในปัจจุบันประชากรของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อประชากรมีการขยายตัวมากขึ้น ทรัพยากรก็ถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อสนองความต้องการของประชากรบนโลก ทั้งการตัดไม้เพื่อมาสร้างที่อยู่หรือเครื่องใช้ต่างๆ รวมไปถึงน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน อีกทั้งการที่ประชากรมีจำนวนมากทำให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตอาหารและสินค้ามากมายเพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค ผลกระทบของการเผาผลาญพลังงานเหล่านี้ก็คือก๊าซเรือนกระจกที่ค่อยๆจับตัวกันบนชั้นบรรยากาศของโลก ในขณะที่ป่าไม้ก็ลดลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้จับตัวหนาอยู่บนชั้นบรรยากาศ ก็ทำให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่จะต้องระบายออกไปอย่างสมดุลเป็นไปยาก โลกเราก็เลยเปรียบเหมือนเตาอบที่อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราเรียกว่า “ภาวะโลกร้อน” ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา รวมทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพของประชากรบนโลกด้วย จากผลกระทบที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ประเทศต่างๆ ได้ให้ความสำคัญ โดยได้คิดมาตรการป้องกัน เพื่อบรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลของประเทศต่างๆ จึงมีแนวโน้มที่จะนำมาตรการทางภาษีที่เรียกว่า “ภาษีคาร์บอน” มาใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มที่จะบังคับใช้มาตรการทางด้านภาษีกับประเทศคู่ค้าของตนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ

          ภาษีคาร์บอน เป็นภาษีสิ่งแวดล้อมที่จัดเก็บเนื่องจากคาร์บอนที่เป็นส่วนประกอบของเชื้อเพลงซึ่งเมื่อถูกเผาไหม้จะปล่อยก๊าซออกมาในรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์ ในหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้มีการนำภาษีคาร์บอนมาบังคับใช้กับธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา รัสเซีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับการจัดเก็บภาษีคาร์บอนประเทศไทยยังไม่มีการนำมาใช้ เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมในการตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปัจจุบันรัฐบาลได้ร่างพระราชบัญญัติมาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ให้โอกาสรัฐบาลมีเครื่องมือด้านการคลัง เช่น ภาษี ค่าธรรมเนียม และมาตรการต่างๆเพื่อดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม แนวทางในการจัดเก็บภาษีคาร์บอนที่เป็นไปได้ในประเทศไทย สามารถดำเนินการได้ 3 รูปแบบ คือ 1)เก็บภาษีบนฐานการใช้ไฟฟ้า 2)เก็บภาษีบนฐานใช้เชื้อเพลิง 3)เก็บภาษีบนฐานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากแหล่งผลิต แต่ไม่ว่าจะจัดเก็บด้วยรูปแบบใดก็ตาม การจัดเก็บภาษีต้องเป็นไปอย่างยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ การจัดเก็บภาษีคาร์บอนส่งผลกระทบให้ภาพพจน์ในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยดีขึ้นในสายตาของต่างประเทศ ไม่มีปัญหาการกีดกันทางการค้าสำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา เปิดโอกาสให้มีการขอรับความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการลงทุนธุรกิจ หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาษีคาร์บอนเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยในการลดภาวะโลกร้อน แต่การลดภาวะโลกร้อนที่ยั่งยืนจะต้องมาจากความร่วมมือและจิตสำนึกของคนทุกคนบนโลกร่วมมือกัน

References

กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย. (2555). สภาวะโลกร้อน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555,จาก https://dol.go.th/sms/interesting.htm.

คลังปัญญาไทย. (2555). ภาวะโลกร้อน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555, จาก https://www.panyathai.or.th/wiki/index.php.

ทศพร พงษ์กลาง. (2554). คาร์บอนเครดิต. กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.

ยุวดี คาดการณ์ไกล. (2553). ชุดความรู้เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม : Q&A ภาษีสิ่งแวดล้อม : แนวคิด หลักการ และกฎหมาย. เชียงใหม่. โรงพิมพ์เดือนตุลา.

วิกิพีเดีย. (2555). ภาษีคาร์บอน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ภาษีคาร์บอน.

ศราวุธ ไผ่บ้าง. (2555). เครื่องมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม “ภาษีคาร์บอน”. สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ.

สฤณี อาชวานันทกุล. (2555). เศรษฐศาสตร์ของภาวะโลกร้อน และภาษีคาร์บอน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 จาก https://boulderchamber.mychoicemail.com/pages/0507/advocacy.html.

อนันต์ วัฒนกุลจรัส และกฤติยาพร วงษา. (2554). การใช้ภาษีคาร์บอนในการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย. เชียงใหม่. สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การหาชน). (2555). ก๊าซเรือนกระจก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2555 จาก https://www.tgo.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=46:what-is-ghg&catid=35:greenhouse-effect&Itemid=55.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2013-04-30