ความต้องการของผู้ป่วยขณะมารับการรักษาพยาบาลที่แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน กรณีศึกษา โรงพยาบาลกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

ผู้แต่ง

  • คมขำ เยี่ยมสวัสดิ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

บทคัดย่อ

          งานด้านการบริการผู้ป่วยหน่วยงานอุบัติเหตุฉุกเฉินเป็นหน่วยงานสำคัญหน่วยหนึ่งของโรงพยาบาล  เป็นด่านแรกที่ต้องให้บริการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุและเจ็บป่วยกะทันหันที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินและวิกฤติ ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างรีบด่วน ซึ่งต้องจัดให้มีบริการตลอด 24 ชั่วโมง และมีความสำคัญที่จะต้องจัดให้มีไว้บริการในสถานพยาบาลสาธารณสุขทุกระดับ การวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความต้องการของผู้ป่วยขณะมารับการรักษาพยาบาลและปัญหาอุปสรรคการให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่แผนกอุบัติเหตุุฉุกเฉิน โรงพยาบาลกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน  จังหวัดสมุทรสาคร กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่มารับการรักษาพยาบาลด้วยการเจ็บป่วยฉุกเฉินของระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหาร และการบาดเจ็บฉุกเฉินจากอุบัติเหตุ จำนวน 380 คน และเจ้าหน้าที่ประจำแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินจำนวน 22 คน ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนพฤษภาคม 2556   เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย แบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยและการรักษาพยาบาลที่ได้รับ แบบสอบถามความต้องการของผู้ป่วยขณะมารับการรักษาพยาบาลที่ห้องฉุกเฉิน และแบบสัมภาษณ์เจาะลึกปัญหา อุปสรรคทางการให้บริการจากการสนทนากลุ่มกับเจ้าหน้าที่ประจำแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่และร้อยละ ค่าต่ำสุดและค่าสูงสุด ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

          ผลการวิจัยพบว่า  ผู้ป่วยขณะมารับการรักษาพยาบาลที่แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ทั้งหมดมีความต้องการโดยรวมอยู่ในระดับมาก และมีความต้องการในด้านการดำรงชีวิตในระดับมาก ด้านความใกล้ชิดและด้านสิทธิเสรีภาพในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินของระบบทางเดินหายใจมีความต้องการโดยรวมอยู่ในระดับมาก และความต้องการด้านดำรงชีวิตในระดับมาก ด้านความใกล้ชิดและด้านสิทธิเสรีภาพในระดับปานกลาง ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินของระบบหัวใจ และหลอดเลือด  มีความต้องการโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง  และความต้องการด้านดำรงชีวิต  ด้านความใกล้ชิดและด้านสิทธิเสรีภาพในระดับที่เท่ากันคือในระดับปานกลาง ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินของระบบทางเดินอาหารมีความต้องการ โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง และต้องการด้านดำรงชีวิตในระดับมาก    มีความต้องการด้านความใกล้ชิดและด้านสิทธิเสรีภาพในระดับปานกลาง และสำหรับกลุ่มผู้ป่วยบาดเจ็บฉุกเฉินจากอุบัติเหตุมีความต้องการโดยรวมอยู่ในระดับมาก และความต้องการด้านดำรงชีวิต ด้านความใกล้ชิดและด้านสิทธิเสรีภาพในระดับที่มากเท่ากันทั้งสามด้าน และจากการวิจัยพบปัญหาและอุปสรรคจากการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินดังนี้ ด้านบุคลากรพบว่าจำนวนพยาบาลวิชาชีพและผู้ช่วยเหลือคนไข้ไม่เพียงพอ ไม่มีแพทย์เฉพาะทางประจำแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน ไม่มีเจ้าหน้าที่เฉพาะทำบัตร ประจำแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน ด้านวัสดุอุปกรณ์พบว่า ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ไม่พร้อมใช้งานเก่าชำรุด และล้าสมัย ด้านสถานที่พบว่า สถานที่ไม่เหมาะสม แบ่งพื้นที่ใช้สอยไม่ชัดเจน ขนาดพื้นที่ ใช้สอยแคบ และสำหรับด้านรูปแบบขั้นตอนการให้บริการ พบว่า การคัดกรองผู้ป่วยนอกกับผู้ป่วยฉุกเฉินปะปนกัน และการทำบัตรผู้ป่วยในรายผู้ป่วยฉุกเฉินยังล่าช้า และผู้วิจัยได้เสนอให้ผู้บริหารของโรงพยาบาลคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยขณะมารับการรักษาพยาบาลที่แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน ทั้งด้านความต้องการ ในการดำรงชีวิต ด้านความใกล้ชิด และด้านสิทธิเสรีภาพ  ในทุกกลุ่มผู้ป่วยทั้งหมด  และการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มคุณภาพการบริการรักษาพยาบาล ทั้งด้านบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ และรูปแบบขั้นตอนการให้บริการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

References

ชวนพิศ ทำนอง และชิดชม สุวรรณน้อย. (2544). คู่มือการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน. ขอนแก่น : ขอนแก่นการพิมพ์.

นครชัย เผื่อนปฐม เมธินี ไหมแพง และก่อพงศ์ รุกขพันธ์. (2545). ตำราเวชศาสตร์ฉุกเฉิน. สงขลา : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

ประยูร อาษานาม. (2544). คู่มือวิจัยทางการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 2. ขอนแก่น : ขอนแก่นการพิมพ์.

ผาสุก มหรรฆานุเคราะห์. (2543). ประสาทกายวิภาคศาสตร์พื้นฐาน. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมพิมพ์ครั้งที่ 2.เชียงใหม่ : พีบี ฟอเรนบุ๊คส์.

พัชรียา ไชยลังกา ทิพมาส ชิณวงศ์ และนวลจันทร์ รมณารักษ์. (2545). ตำราการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 2. สงขลา : คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

วิทยา ศรีดามา. (2545). Ambulatory medicine. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

สุปาณี เสนาดิสัย และวรรณภา ประไพพานิช. (2547). แนวคิดและการปฏิบัติการพยาบาลพื้นฐาน.พิมพ์ครั้งที่ 11 .กรุงเทพมหานคร : จุดทอง.

Hostulter, J.J., Taft, S.H., and Synder, C. (1999). Patient needs in the emergency department : Nurses' and patients' perceptions. Journal of Nursing Administration. 29 (1) : 43-50.

Krejcie, R.V., and Morgan, D.W., (1970). Determining sample size for research activities. Educational and Psychological Measurement. 30 (3) : 607-610.

Potter,P.A., and Perry, G.A. (2002). Fundamental of nursing. fifth edition. St. Louis : Mosby.

Yura,H.,&Walsh,M.B. (1983). The nursing process : Assessing, Planning, Implementation, Evaluation. fourth edition. Norwalk : Prentice - Hall.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2013-08-31