การพัฒนารูปแบบวิทยุกระจายเสียงชุมชนที่เหมาะสมกับสังคมไทย
บทคัดย่อ
การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาถึงรูปแบบวิทยุกระจายเสียงชุมชนตามกฎหมาย รูปแบบวิทยุกระจายเสียงชุมชนตามความต้องการของประชาชน อันนำมาซึ่ง การพัฒนารูปแบบวิทยุกระจายเสียงชุมชนที่เหมาะสมกับสังคมไทย การวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยผู้วิจัยเลือกใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล 3 วิธี คือ ใช้วิธีการวิจัยเอกสาร (Documentary research) เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดหลักในการดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน และรูปแบบวิทยุกระจายเสียงชุมชนทั้งต่างประเทศในประเทศ โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากหนังสือ บทความ เอกสาร เวบไซต์ (Web-site) งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย และใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth interview) ตามแบบสัมภาษณ์แบบเป็นทางการจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้แทนภาครัฐ กลุ่มนักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มผู้แทนองค์กรที่มิใช่ภาครัฐ/และภาคประชาชน เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับหลักการแนวคิดการดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียง ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง สภาพปัญหาและอุปสรรคของประชาชนในการดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชน ตลอดจนรูปแบบในการดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนที่เหมาะสมกับสังคมไทย ในด้านการบริหารจัดการ โครงสร้างการบริหาร รูปแบบเนื้อหารายการ สัดส่วนรายการ แหล่งรายได้ รวมถึงมาตรฐานทางเทคนิค การกำกับดูแลวิทยุกระจายเสียงชุมชนที่เหมาะสมกับสังคมไทย และผู้วิจัยได้นำผลการวิจัยมาดำเนินการสนทนากลุ่มกับภาคประชาชน/ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนทั้ง 4 ภูมิภาค ในประเทศไทยประกอบด้วย ผู้แทนภาคเหนือ ผู้แทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้แทนภาคกลาง และผู้แทนภาคใต้ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อให้ผลการวิจัยรูปแบบวิทยุกระจายเสียงชุมชนมีความชัดเจน สมบูรณ์ และเหมาะสมกับสังคมไทย สามารถนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ผลจากการวิจัยเอกสารพบว่า ภายหลังการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 ทำให้หลายประเทศได้มีการปฏิรูประบบสื่อสารเพื่อตอบสนองสิทธิทางด้านการสื่อสารของประชาชน และประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการสื่อสารมากยิ่งขึ้น แนวคิดในเรื่องกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนได้เริ่มต้น และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีการดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ทั้งประเทศในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และโครงการทดลองวิทยุชุมชนของบางประเทศในเอเชีย รูปแบบและแนวทางในการดำเนินการกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนดังกล่าว อาจจะมีลักษณะบางประการที่คล้ายหรือแตกต่างกัน แต่ทั้งนี้การดำเนินกิจการสถานีจะมีแนวคิดหลักการเบื้องต้นที่เหมือนกันคือ ประชาชนเป็นเจ้าของและสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกระดับ ทั้งการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การกำหนดกรอบนโยบาย มีส่วนร่วมในการผลิตรายการ และการดำเนินกิจการของสถานีมีวัตถุประสงค์หลักในการบริการเพื่อประโยชน์สาธารณะ และสำหรับในประเทศไทยได้มีการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชน ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 40 (ปัจจุบัน พุทธศักราช 2550 มาตรา 47) ถึงแม้ว่าการจัดตั้งดังกล่าวจะไม่ใช่การดำเนินการโดยภาคประชาชนอย่างเต็มรูปแบบและมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการบ้าง แต่ทั้งนี้ประสบการณ์และข้อมูลที่ได้สามารถนำมาใช้ในการพัฒนารูปแบบการดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน
ผลจากการสัมภาษณ์และเจาะลึกกลุ่มตัวอย่างรวมถึงการสนทนากลุ่ม พบว่า แนวคิดหลักในการดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนที่เหมาะสมกับสังคมไทย คือ การดำเนินงานที่ต้องยึดหลักการและเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 มาตรา 40 (ปัจจุบัน พุทธศักราช 2550 มาตรา 47) เป็นสถานีวิทยุที่ดำเนินการโดยประชาชน เพื่อประชาชนและเป็นของประชาชน ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้ในทุกระดับของการดำเนินกิจการ การดำเนินการต้องไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลประโยชน์หรือผลกำไร มีความเป็นอิสระปราศจากการครอบงำและการแทรกแซง ทั้งจากอำนาจรัฐ กลุ่มอิทธิพลทางการเมือง กลุ่มนายทุน และกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจ
สำหรับรูปแบบในการดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชน จากการวิจัยพบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหัวใจในการดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน โดยเฉพาะการที่ประชาชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารสถานี กำหนดนโยบาย วางแผน ผลิตรายการ จัดรายการ และร่วมประเมินผล รูปแบบเนื้อหาสาระที่นำเสนอควรมีความหลากหลาย และเป็นเนื้อหาที่ใกล้ตัวในท้องถิ่นชุมชนนั้นๆ สามารถตอบสนองความต้องการข้อมูลข่าวสารของประชาชน อีกทั้งการนำเสนอรายการต่างๆ ควรมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย และจากการวิจัยพบว่า ควรมีกลไกในการกำกับดูแลร่วมกันระหว่างภาครัฐและองค์กรวิชาชีพ โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มในการกำกับดูแลตนเอง ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการกำกับดูแลจากภาครัฐฝ่ายเดียว
References
กาญจนา แก้วเทพ. (2549). วิทยุชุมชน : รายงานการศึกษาข้อมูลพื้นฐานวิทยุชุมชนภาคประชาชน. เชียงใหม่ : วนิดาเพรส.
คอลิน เฟรเซอร์และโซเนีย เรสเตรโฟ เอสตราดา. (2548). คู่มือวิทยุชุมชน. แปลโดย จุมพล รอดคำดี. กรุงเทพฯ : ยูเนสโก.
ทรงศักดิ์ กิตติวราพล.(2552). การศึกษาแนวโน้มของวิทยุชุมชนในอุดมคติในทศวรรษหนึ่งช่วงปี พ.ศ.2552-2561. วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต.
ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ.(2552). หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว(วิทยุกระจายเสียงชุมชน). ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 126, ตอนที่พิเศษ 104 ง . กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ.
พัชรินทร์ อิ่มพันธ์. (2549). การผลักดันนโยบายวิทยุชุมชนสู่การปฏิบัติ. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พิมพรรณ อินทรพิมล. (2548). วิธีการสื่อสารของสถานีวิทยุชุมชนและการสื่อสารแบบตัวเองมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการพัฒนาชุมชนบ้าจำรุง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขานิเทศศาสตร์พัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พิรงรอง รามสูต รณะนันท์. (2547). สื่อภาคประชาชน.โครงการ การปฏิรูประบบสื่อ : การกำกับดูแลเนื้อหาโดยรัฐ การกำกับดูแลตนเองและสื่อภาคประชาชน.
ประสิทธิ์ ทีฆพุฒิ. (2549). วิทยุชุมชน. กรุงเทพฯ : บริษัทแอคทีฟพริ้นท์ จำกัด.
สิขเรศ ศิริกานต์. (2543). รูปแบบสถานีวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชนที่พึงประสงค์สำหรับประเทศไทยภายหลังการปฏิรูประบบวิทยุกระจายเสียง ตามเจตนารมณ์ มาตรา 40 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ. (2555). 1 ทศวรรษ วิทยุชุมชนไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์.
Ankita Chakraborty. (2009). Community Radio-A Stimulant For development through Communication. Student of the department of Mass Communication,University of Burdwan,India. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554 จาก http:www.caluniv.ac.in./Tlobal%20mdia%20journal/DOCOUMENT/C%20r%20policy%20bangladesh%202008.pdf)
Bridget Griffen-Foley. Radio minis tries:Religion on Austrdian commercial readio from the 1920 s to the 1960s. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554 จาก https://www.nswchurches.org/Resources/Articles/A08083_GriffenFoley_Radio_and_religion_1920s to_1960s.pdf)
Fackson Banda and Pieter J.Fourie. (2004). To Wards a Policy model for community radio broadcasting in Zambiao. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554 จาก https://uir.unisa.ac.za/bitstream/handle/10500/254/ar_fourie_communityradio.pdf?sequence=1)