ผลลัพธ์ของการใช้โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพของสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ผู้แต่ง

  • มัณฑนา สุขศรีอินทร์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน

บทคัดย่อ

          สตรีที่เป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญปัญหาหนึ่ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญ และให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นโรคที่มีอันตรายต่อตัวมารดา และทารกในครรภ์ การส่งเสริมสุขภาพสามารถป้องกันผลกระทบที่เกิดจากเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้

          การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลลัพธ์ของการใช้โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพของสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมารับบริการที่แผนกฝากครรภ์ โรงพยาบาลนครปฐม เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 30 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 15 คน ได้รับการพยาบาลตามปกติ และกลุ่มทดลอง 15 คน ได้รับโปรแกรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นตามกรอบแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพของเพนเดอร์ (Pender,2006) เก็บรวบรวมข้อมูลช่วงเดือน กรกฎาคม ถึง กันยายน 2556 เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพของสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย การตรวจหาค่าระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารก่อนอาหารเช้า (FBS) ค่าระดับน้ำตาลในเลือด 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารเช้า (1-hour postprandial blood sugar) และแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพของสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์  ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ความเชื่อมั่นแบบวัดโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค มีค่าเท่ากับ 0.86 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสถิติเชิงพรรณนาและเปรียบเทียบความแตกต่างค่าเฉลี่ยด้วยสถิติ Mann-Whitney u test

          ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีคุณลักษณะทางประชากร สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมคล้ายกัน ภายหลังเข้าร่วมโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่ากลุ่มควบคุม คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพด้านการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แสดงให้เห็นว่า โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพของสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่งผลให้ สตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพดีขึ้น

          ผลการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า ควรนำโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพไปพัฒนาระบบการดูแลสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์เพื่อให้สตรีตั้งครรภ์มีคุณภาพชีวิตที่ดี

References

กองสถิติ กระทรวงสาธารณสุข. (2553). สถิติสาธารณสุข. นนทบุรี : สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์.

จิรศักดิ์ มนัสสากร. (2544). เบาหวานขณะตั้งครรภ์. ใน มานี ปิยะอนันต์ ชาญชัย วันทนาศิริสิงห์เพ็ชร สุขสมปอง และ มงคล เบญจาภิบาล (บรรณาธิการ). สูติศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : พี.เอ.ลีฟวิ่ง.

ธีระ ทองสง. (2536). โรคเบาหวานในสตรีตั้งครรภ์. ใน ธีระ ทองสง และ จตุพล ศรีสมบูรณ์(บรรณาธิการ). ภาวะแทรกซ้อนทางอายุรศาสตร์ในสตรีตั้งครรภ์. กรุงเทพมหานคร : พี. บี. ฟอเรน บุ๊คส์ เซนเตอร์ : 449-470.

______. (2541). โรคเบาหวานในสตรี ตั้งครรภ์. ใน ธีระ ทองสง และ ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ (บรรณาธิการ). สูติศาสตร์. กรุงเทพฯ : พี. บี. ฟอเรนบุ๊คส์ เซนเตอร์ : 385-470.

แผนกหลังคลอด โรงพยาบาลนครปฐม. (2556). ข้อมูลอนามัยแม่และเด็ก. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม. นครปฐม.

พัชรี เกษรบุญนาค. (2555). พฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่ขั้นสูงบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยคริสเตียน.

เมตตา เหรียญทองคำ. (2555). ผลลัพธ์ของการใช้โปรแกรมการเสริมสร้างสมรรถนะแห่งตนต่อพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน. วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเวชปฏิบัติชุมชน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยคริสเตียน.

เยื้อน ตันตินิรันดร และคณะ. (2551). เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์. พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพมหานคร : ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย.

วรรณี แก้วคงธรรม. (2554). คู่มือเบาหวานขณะตั้งครรภ์. โรงพยาบาลพัทลุง.

อารีรัตน์ สุพุทธิจินดา. (2546). ข้อแนะนำการออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ในหญิงไทย. นนทบุรี. กองออกกำลังกาย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.

อุบล สุวรรณมณี. (2548). พฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ที่เป็นเบาหวานในตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. รายงานการวิจัย. โรงพยาบาลสันทราย.

เอกชัย โควาวิสารัช. (2555). ภาวะคลอดติดไหล่. ในเอกชัย โควาวิสารัช ปัทมา พรหมสนธิ และบุญศรี จันรัชชกูล. วิกฤตการณ์ทางสูติกรรมที่รุนแรง. กรุงเทพมหานคร : ทรี-ดี สแกน.

Cunningham, F. G., Gant, N. F., Leveno, K. J., Gilstrap, L. C., Hauth, J. C., & Wenstrom, K. D. (2001). Diabetes. In A. Seils, S. R. Noujaim, & K. Davis (Eds.) Williams obstetrics. 21st ed : pp. 1359-1382). New York : McGraw-hill.

Cunningham, F. G., Leveno, K. J., Bloom, S. L., Hauth, J. C., Gilstrap, L. C., & Wenstrom, K. D. (2005). Diabetes. In A. Seils, K. G. Edmonson, & K. Davis (Eds.), Williams Obstetrics. 22st ed : pp. 1169-1187. New York : McGraw-Hill.

Coustan, D. R., & Felig, P. (1988). Diabetes Mellitus. In G. N. Burrow & T.F. Ferris (Eds.), Medical complication during pregnancy. 3rd ed : pp. 34-64). Philadelphia : W. B. Saunders.

Dempsey, P.A., & Dempsey, A. (1992). Nursing research with basicstatistical applications (3rd ed.). Boston : Jones and Bartlett.

Katz, D.L. (2001). Nutrition in clinical practice. Philadelphia : Lippincott Williams &Wilkins, pp.441-446.

Pender, N.J., Murdaugh, C.L., Parson, M.A. (2006). Health promotion in nursing practice. 5th ed. New Jersey : Pearson.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2014-03-31