ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโอกาสการรอดชีวิตในผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุทางจราจร ของโรงพยาบาลตติยภูมิแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครปฐม
บทคัดย่อ
งานวิจัยครั้งนี้ เป็นงานวิจัยเชิงวิเคราะห์พรรณนา (Descriptive analytical research) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโอกาสการรอดชีวิตในผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุทางจราจร โดยการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง (Retrospective analysis) กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บาดเจ็บที่ประสบอุบัติเหตุทางจราจรที่มารับการรักษาที่งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลนครปฐม ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2555 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบบันทึกการเฝ้าระวังการบาดเจ็บ (Injury Surveillance) ของโรงพยาบาลนครปฐม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมการเฝ้าระวังการบาดเจ็บ (TRISS Methodology) และโปรแกรมสำเร็จรูปสถิติเชิงพรรณนาใช้ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าสหสัมพันธ์ และการถดถอยพหุคูณ หาสมการพยากรณ์โอกาสรอดชีวิต
ผลการวิจัยพบว่า ผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลนครปฐม ตลอดปี พ.ศ. 2555 มีจำนวน 5,622 ราย เป็นผู้บาดเจ็บเพศชาย 3,486 ราย คิดเป็นร้อยละ 62 ผู้บาดเจ็บเพศหญิง 2,136 ราย คิดเป็นร้อยละ 38 กลุ่มอายุผู้บาดเจ็บที่พบมากที่สุด คือ 11-20 ปี คิดเป็นร้อยละ 29.7 รองลงมา กลุ่มอายุ 21-30 ปี คิดเป็นร้อยละ 22.8 ลักษณะของการบาดเจ็บเป็นชนิดไม่มีคม (Blunt) เป็นส่วนใหญ่ 5,577 ราย คิดเป็นร้อยละ 99.2 ชนิดมีคม (Penetrating) 38 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.67 กลุ่มตัวอย่างใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะมากที่สุด 4,648 ราย คิดเป็นร้อยละ 82.68 กลุ่มตัวอย่างดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 18.30 ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 78.83 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้รถจักรยานยนต์ สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 15.88 ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 83.39 กลุ่มตัวอย่างที่ขับรถยนต์ รถตู้/รถกระบะ รถบรรทุก รถบัสใช้เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 15.75 ไม่ใช้เข็มขัดนิรภัยร้อยละ 80.09 เพศมีความสัมพันธ์ทางบวกกับโอกาสการรอดชีวิตของผู้บาดเจ็บอุบัติเหตุจราจร r = 0.061** อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ประเภทยานพาหนะที่เป็นรถจักรยานยนต์มีความสัมพันธ์ทางบวกกับโอกาสการรอดชีวิตของผู้บาดเจ็บอุบัติเหตุจราจร r = .036* อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 รถยนต์ และ รถตู้/รถกระบะ มีความสัมพันธ์ทางลบกับโอกาสการรอดชีวิตของผู้บาดเจ็บอุบัติเหตุจราจร r = -.033* และ r = -.037* ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ 0.05
ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโอกาสการรอดชีวิตของผู้บาดเจ็บอุบัติเหตุจราจรที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสวมหมวกนิรภัย และการใช้เข็มขัดนิรภัย พบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์ทางลบกับโอกาสการรอดชีวิต r = -.325** อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ส่วนการสวมหมวกนิรภัย และการใช้เข็มขัดนิรภัย ไม่มีความสัมพันธ์กับโอกาสการรอดชีวิตของผู้บาดเจ็บอุบัติเหตุจราจร โดยได้สมการพยากรณ์โอกาสการรอดชีวิตของผู้บาดเจ็บอุบัติเหตุทางจราจร ดังนี้
โอกาสการรอดชีวิต = .981 - .002 (การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) + .011 (การขับขี่รถจักรยานยนต์)
References
ชัชวาล จันทะเพชร. (2552). การศึกษาลักษณะของผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร. วารสารเวชศาสตร์ฉุกเฉินไทย. (ฉบับที่ 2) เมษายน-มิถุนายน : 13-23.
ทักษพล ธรรมรังสี และคณะ.(2556). ผลการศึกษาความสัมพันธ์เกี่ยวกับพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการบาดเจ็บที่มาเข้ารับบริการที่แผนกอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน. [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557, จาก https://www.cas.or.th.
สมคิด เริงขำกลั่น และ วาสนา สายเสมา. (2555). สถานการณ์การบาดเจ็บ 12 ปี ของผู้บาดเจ็บที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลนครปฐม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เพชรเกษมพริ๊นติ้ง กรุ๊ปจำกัด.
Alvarez FZ and Del Rio MC. (1996) . “Alcohol and driving.” Lancet. 347 : 985-986.
Anonymous.(1994) “Drivers with repeat convictions or arrests for driving while Impaired-United States.” Morbidity and Mortality Weekly Report. 43:759-761.
Boyd CR, Tolson MA, and Copes WS. (1987). “Evaluating Trauma Care : The TRISS Method”. Journal of Trauma. 27 : 370-378.
Champion HR, Sacco WJ, Copes WS. (1989). “A revision of the Trauma Score.” Journal of Trauma. 29(5) : 623-629.
McLellan BA, Vingilis E, Larkin E, and Stoduto G.(1993) “Psycosocial characteristics and follow-up of drinking and non-drinking drivers in motor vehicle crashes. Journal of Trauma. 35 : 245-250.
Niki Harre, Jeff Field and Barry Kirkwood.(1996). “Gender differences and areas of common concern in the driving behaviors and attitudes of adolescents.” Journal of Safety Research. 27, (3) : 163-173.
Seat belt. Statistics [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557, จาก https:// www.tac.vic.gov.au/road-safety/statistics/summeries/Seat belt-statistics).
Walker SH and Duncan DB.(1967). “Estimation of the probability oa an event as a function of several independent variables.” Biometrika. 54 : 167.