ผลการเรียนรู้โครงการจิตสำนึกสาธารณะของนักศึกษาพยาบาล มหาวิทยาลัยคริสเตียน

ผู้แต่ง

  • เสาวนีย์ กานต์เดชารักษ์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน

บทคัดย่อ

          จิตสำนึกสาธารณะเป็นการตระหนักรู้และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการทำประโยชน์เพื่อสังคม  จิตสำนึกสาธารณะเป็นจริยธรรมด้านวินัยที่สำคัญระดับบุคคลที่จะมีผลต่อความเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาในระดับครอบครัว ชุมชน และระดับชาติ เพราะประเทศชาติจะเข้มแข็งเกิดความมั่นคงและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความมีวินัยของบุคคลในครอบครัวและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีจิตสำนึกสาธารณะที่บุคคลทุกคนจะทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม ไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และกลุ่มของตน แต่พร้อมที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่น

          การสร้างจิตสำนึกสาธารณะจำเป็นจะต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กซึ่งเป็นความรับผิดชอบของครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย องค์กรศาสนา และภาครัฐ ฯลฯ ที่จะต้องดำเนินการเพื่อร่วมกันพัฒนาเด็กในวันนี้ให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกสาธารณะในอนาคต อย่างไรก็ตามในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น เป็นวัยที่ใช้เวลาในการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ สถานศึกษาจึงจำเป็นต้องเป็นสถาบันหลักในการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมในการมีจิตสำนึกสาธารณะให้กับนักศึกษาทุกคน การปลูกฝังนักศึกษาให้มีจิตสำนึกสาธารณะวิธีการหนึ่งที่สำคัญคือวิธีการสอนด้วยโครงการ เพราะเป็นการมอบหมายงานกลุ่มให้นักศึกษาได้ร่วมกันจัดทำโครงการจิตสำนึกสาธารณะที่เป็นประโยชน์กับชุมชนหรือสังคม การจัดทำโครงการของนักศึกษาช่วยให้เกิดการเรียนรู้ เกิดประสบการณ์จากการทำโครงการ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากการกระทำ (Leaning by doing) อันจะมีประสิทธิผลต่อการเรียนรู้จากโครงการจิตสำนึกสาธารณะ ดังนั้น การปลูกฝังจริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพโดยการเรียนรู้จิตสำนึกสาธารณะของนักศึกษาพยาบาลจึงเป็นสิ่งจำเป็นและควรกระทำอย่างยิ่ง เพื่อปลูกฝังคุณลักษณะของวิชาชีพ  ในด้านการเสียสละให้เกิดกับนักศึกษาพยาบาล เพราะวิชาชีพการพยาบาลเป็นงานบริการที่ต้องคำนึงถึงผู้อื่น หรือผู้ใช้บริการเป็นหลักซึ่งการปลูกฝังการมีจิตสำนึกสาธารณะ จึงเป็นการเริ่มต้นของวิชาชีพการพยาบาลที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการปลูกฝังจรรยาบรรณของวิชาชีพที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน

References

กัลยากร วรกุลลัฎฐานีย์. (2551). รายงานวิจัย เรื่อง การรับรู้พฤติกรรมที่มีต่อจิตสำนึกสาธารณะและการสื่อสารการตลาดที่มีประสิทธิผลต่อการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวกับจิตสำนึกสาธารณะของเยาวชน. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

จันทิรา ธนสงวนวงศ์. (2552). แนวทางการสร้างจิตสาธารณะ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2555, จาก https://www.edu.e-rech.ac.th/mace/s301/unit0.8html.

ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์. (2552). สอนเด็กให้มีจิตสาธารณะ. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วีพรินท์.

ทิศนา แขมณี. (2551). ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดการกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นวรินทร์ ตาก้อนทอง. (2550). จิตสาธารณะ คุณลักษณะของเด็กไทยที่พึงประสงค์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2554, จาก https://www.ireo.bu.ac.th/moral.doc.

เยาวลักษณ์ บรรจงปุร และคณะ. (2537). การจัดการเรียนการสอนด้านจริยธรรมในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต. วารสารพยาบาล มหาวิทยาลัยบูรพา. 3(1) : 25-27.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับบลิเคชั่น.

ลัดดา ภู่เกียรติ. (2544). โครงงานเพื่อการเรียนรู้ : หลักการและแนวทางการจัดกิจกรรม. กรุงเทพฯ : คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย .

วัฒนาพร ระงับทุกข์. (2545). เทคนิคและกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. กรุงเทพฯ : พริกหวานกราฟิก.

ศรีเกียรติ อนันต์สวัสดิ์. (2540). การพัฒนารูปแบบการสอนบูรณาการเพื่อส่งเสริมจริยธรรม. วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาอุดมศึกษา. บัณฑิตวิทยาลัย. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สิวลี ศิริวิไล. (2539). จริยศาสตร์สำหรับพยาบาล. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Delougherg.G. (1995). Designing new ides Nursing in the '90 & and beyond.Nursing Management, 21(2) : 7-8.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2014-09-30