การเปลี่ยนแปลงนิเวศภูมิทัศน์ของพื้นที่สวนผลไม้ทุเรียนนนทบุรี ภายหลังน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554

ผู้แต่ง

  • พิจักษณ์ หิญชีระนันทน์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บทคัดย่อ

          การศึกษานี้มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงทางภูมินิเวศของพืชและสัตว์รวมทั้งคุณภาพดินและน้ำในสวนผลไม้ทุเรียนจังหวัดนนทบุรีภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 โดยการเปรียบเทียบคุณภาพน้ำและดินระหว่างพื้นที่น้ำท่วมกับพื้นที่ที่มีการป้องกันน้ำท่วมหลังจากเหตุการณ์นั้นว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ การวิจัยนี้อาศัยแนวคิดว่าน้ำที่เข้าท่วมอาจพัดพาเอามลพิษจากชุมชนเมืองเข้ามาตกค้างในสวนผลไม้

          วิธีการศึกษามีการสำรวจโดยกำหนดการสุ่มตัวอย่างสวนผลไม้ทุเรียนในพื้นที่น้ำท่วมกับพื้นที่ที่ป้องกันน้ำไม่ท่วม อย่างละ 10 ตัวอย่าง และยังแบ่งการจับคู่เป็นคู่พื้นที่ตอนบนและคู่พื้นที่ตอนล่าง มีการสำรวจด้วยการสอบถามชาวสวนและการสำรวจดินและน้ำเชิงวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์ความแตกต่างของดินและน้ำโดยวิธีทดสอบความแตกต่างทางสถิติ (T-test)  นอกจากนี้มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบค่าเฉลี่ย และการวิเคราะห์เชิงพรรณา

          จากการศึกษาพบว่าผลกระทบทางภูมินิเวศพืชและสัตว์คือในระยะแรกมดปลวกหายไป 1 ปีก่อนฟื้นกลับมาใหม่ สัตว์จำพวกนกหนูกระรอกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่น้ำไม่ท่วม นอกจากนี้มีนกจำพวกนกปากห่างแพร่กระจายไปทั่วทำให้หอยเชอรรี่ลดลง

ส่งผลให้แหนในน้ำเพิ่มขึ้นนอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายให้ต้นมะพร้าวและไม้ยืนต้นบางชนิดจากมูลของมัน นอกจากนี้มีวัชพืชใหม่เข้ามาชั่วคราว สำหรับคุณภาพน้ำในร่องสวนมีค่า pH และ DO เฉลี่ยเป็นปกติ ยกเว้น BOD มีค่าสูงเกินไป สภาพดินเชิงเกษตรในทุกพื้นที่มีค่า P หรือฟอสเฟส มีค่าต่ำเกินไป ค่า K หรือโปแตสเซี่ยม มีค่าสูงเกินไป ค่า EC หรือความเค็มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ค่า N หรือไนโตรเจน มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเล็กน้อย สภาพดินเชิงสิ่งแวดล้อมมีค่าอาร์เซนิก แคดเมียม โครเมียม ปรอท และตะกั่ว ต่ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับการวิเคราะห์ความแตกต่างของดินและน้ำทั้งเชิงเกษตรและสิ่งแวดล้อมในภาพรวมไม่มีความแตกต่างกันระหว่างพื้นที่น้ำท่วมและในพื้นที่ป้องกันน้ำไม่ท่วม แม้จะมีความแปรปรวนในกรณีแบ่งการเปรียบเทียบพื้นที่ย่อยกับพื้นที่รวม แต่มีข้อสังเกตว่าในพื้นที่น้ำท่วมบางจุดมี ตะกั่ว ปรอท และ โครเมี่ยม สูงมากกว่าพื้นที่อื่น แสดงว่าอาจมีมลพิษจากชุมชนแพร่ไปสร้างผลกระทบตามโอกาสการกระจายตัวก็เป็นได้

          ชาวสวนที่ทำสวนทุเรียนเข้มข้นมีจำนวนไม่มากและมีเฉพาะในพื้นที่ป้องกันน้ำไม่ท่วมมีการบำรุงพืชด้วยปุ๋ยชีวภาพมูลวัวและปลาหมัก ชาวสวนทั้งหมดมีแนวทางการปลูกทำสวนไปเรื่อยๆ หากโดนน้ำท่วมก็ปลูกขึ้นมาใหม่ หากไม่มีกิจกรรมดำเนินการอนุรักษ์ใดๆ การทำสวนทุเรียนนนท์อาจเสื่อมสูญหายไปอย่างช้าๆ สิ่งที่ชาวสวนต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดคือการอำนวยน้ำเพื่อให้มีน้ำหล่อเลี้ยงสวนผลไม้ทุเรียน

References

กำพล กาหลง. ( 2547). “สวนทุเรียนดั้งเดิมของเมืองนนท์ ความสมดุลที่ไม่ต้องง้อสารเคมี”.วารสารเกษตรกรรม ธรรมชาติ. (4) : 29-31.

กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตร ส่วนส่งเสริมวิสาหกิจเกษตรชุมชน. (2547). ผลิตภัณฑ์ทุเรียน. กรุงเทพมหานคร : สํานักพัฒนาเกษตรกร. กรมส่งเสริมการเกษตร.

โชติ บูรณกาล. (2523). เอกสารเผยแพร่ความรู้สำหรับเกษตรกรชาวสวนทุเรียน เรื่องการศึกษาสภาพของน้ำและดินในสวนทุเรียน จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ. คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่องกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน. ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 111 ตอนที่ 16 ง ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2537 (ภาคผนวก ฐ).

ประชาชาติธุรกิจ. (2555). กรมวิชาการเกษตร ฟื้นสวนทุเรียนเมืองนนท์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2555, จาก http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1334729718&grpid=no&catid=19.

ศศิวิมล แสวงผล, สมศรี เจริญเกียรติกุล และจงดี โตอิ้ม. (2555). รายงานการวิจัย การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวสวนทุเรียนในประเทศไทยตามแนวทางของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี : กรณีศึกษา จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

สุรสังกาศ วิริยรัตนกุล. (2549). วิเคราะห์หาพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสม ในการปลูกทุเรียนจังหวัดนนทบุรี. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (ภูมิศาสตร์) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2015-12-31